วันนี้ (17 ม.ค.2563) สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น รายงานว่า นายชินจิโร โคอิซูมิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่น ประกาศว่าจะลาเลี้ยงลูกคนแรกของเขาซึ่งมีกำหนดคลอดในเดือนนี้
โคอิซูมิ ในวัย 38 ปี กลายเป็นรัฐมนตรีคนแรกในญี่ปุ่นที่ออกมาให้คำมั่นสัญญาในการเคลื่อนไหวดังกล่าว โดยระบุว่า เขาได้ตัดสินใจใช้สิทธิของคุณพ่อลา 2 สัปดาห์ ในช่วงสามเดือนแรกหลังจากลูกเกิด
การตัดสินใจของโคอิซูมิในครั้งนี้ มีความสำคัญในประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากแม้ว่านโยบายลาคลอดของญี่ปุ่นนั้นจะเป็นนโยบายที่ถือว่าดีที่สุดประเทศหนึ่งของโลก โดยอนุญาตให้ผู้ชายและผู้หญิงรับสิทธิลางานได้เป็นเวลา 1 ปี หลังจากมีบุตร และจะได้รับค่าจ้างบางส่วนนานถึง 1 ปี แต่สถิติในปี 2561 พบว่า มีคุณพ่อเพียงร้อยละ 6.16 เท่านั้นที่ใช้สิทธิลาเพื่อไปดูแลลูก และส่วนใหญ่ลาไม่ถึง 1 สัปดาห์
เราต้องเปลี่ยนไม่เพียงระบบ แต่ยังรวมถึงบรรยากาศด้วย การใช้สิทธิลาในฐานะพ่อของผมกำลังถูกรายงานข่าวและวิพากษ์วิจารณ์ แต่ผมหวังว่าในอนาคต การลาเลี้ยงลูกของเหล่าคุณพ่อจะเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องรายงานข่าว
นอกจากนี้ สำนักข่าวบีบีซี รายงานว่า โคอิซูมิ ได้มีการวางแผนการใช้สิทธิลางานสำหรับคุณพ่อของเขาในช่วง 2 สัปดาห์ โดยจะเน้นการทำงานผ่านอีเมลและการประชุมทางวิดีโอมากขึ้น และอาจให้เจ้าหน้าที่เป็นตัวแทนในระหว่างการประชุมทางธุรกิจตามที่จำเป็น แต่ฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม ยืนยันว่า เขาจะไม่ละเลยการทำหน้าที่สำคัญเพื่อสาธารณะอย่างการประชุมรัฐสภาอย่างแน่นอน

สำหรับการเคลื่อนไหวของนายชินจิโร โคอิซูมิ นั้นได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นลูกชายของอดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น จุนอิจิโร โคอิซูมิ และถูกจับตามองในฐานะผู้ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในอนาคตอีกด้วย
ทำไม "คุณพ่อ" ในญี่ปุ่นไม่ยอมใช้สิทธิลาเลี้ยงลูก
ขณะที่ยูมิโกะ มุรากามิ หัวหน้าองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ของศูนย์โตเกียว ได้ให้ข้อมูลว่า การลาของเหล่าคุณพ่อนั้นเป็นนโยบายที่กำหนดขึ้นมาด้วยความใจกว้างของกฎหมายญี่ปุ่น แต่วัฒนธรรมการทำงานของประเทศกลับทำให้คุณพ่อจำนวนมากยังไม่ยอมใช้สิทธิลาดังกล่าว
มุรากามิ กล่าวอีกว่า ญี่ปุ่นไม่ได้ยอมรับแนวคิดเรื่องความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงาน และผู้ชายบางส่วนไม่ได้คำนึงถึงความสำคัญที่จะต้องช่วยเหลืองานที่บ้าน ซึ่งหากทุกคนคิดเช่นนั้น มันก็เป็นเรื่องลำบากสำหรับผู้หญิงที่จะหยุดงานเช่นกัน
ผู้ชายมักกลัวว่าอาชีพของพวกเขาอาจได้รับผลกระทบ หากพวกเขาใช้สิทธิลาสำหรับคุณพ่อ เพื่อมาดูแลลูก
ขณะที่เมื่อปีที่แล้วมีกรณีชายญี่ปุ่นคนหนึ่ง ได้ยื่นฟ้องบริษัทของเขา โดยอ้างว่า นายจ้างซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตชุดกีฬาได้กีดกันเขาจากการทำงานด้านการขายและการตลาด หลังเขากลับจากการใช้สิทธิลาเลี้ยงลูกสำหรับคุณพ่อในปี 2558
มุรากามิ ระบุว่า การตัดสินใจของโคอิซูมินั้น "น่าสนใจ" เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราการเกิดที่ลดลง โดยเมื่อ 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการของญี่ปุ่น เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับอัตราการเกิดในประเทศญี่ปุ่น โดยปี 2562 พบอัตราการเกิดต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี นับตั้งแต่เริ่มมีการบันทึกในปี 2442
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม ได้อ้างถึงอัตราการเกิดที่ลดลงของญี่ปุ่นว่าเป็นเหตุผลที่ผู้ชายควรใช้สิทธิการลาสำหรับคุณพ่อ
อัตราการเกิดที่ลดลง เริ่มที่จะทำให้ผู้คนคิดว่า สิ่งที่พวกเรากำลังทำอยู่นั้นไม่ได้ทำงานจริงๆ และเริ่มทำให้คนคิดว่า วัฒนธรรมหรือสภาพแวดล้อมการทำงานไม่ได้กระตุ้นให้คนพร้อมที่จะมีลูกจริงๆ