จากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ซึ่งนอกจากจะทำให้กระแสตื่นตัวเรื่องการสวมหน้ากากอนามัยแล้ว ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เช่น เจลล้างมือแอลกอฮอล์ ก็ยังเป็นที่ต้องการของประชาชนทั่วไป วันนี้ (10 มี.ค.2563) นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า หลังจากมีการเผยแพร่ข่าวราชกิจจานุเบกษา ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดลักษณะของเครื่องสำอาง ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เพื่อสุขอนามัยสำหรับมือที่ห้ามผลิต นำเข้าหรือขาย พ.ศ.2563 ที่ได้ลงเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้วันนี้ จำเป็นต้องอ่านรายละเอียดให้ชัดเจน ไม่เช่นนั้นอาจเข้าใจคลาดเคลื่อน
อ่านข่าวเพิ่ม ราชกิจจาฯ ประกาศ “เจลล้างมือ” เป็นเครื่องสำอางมีผล 10 มี.ค.นี้
ทั้งนี้ เจลล้างมือจัดเป็นเครื่องสำอางที่อาศัย พ.ร.บ.เครื่องสำอาง ในการกำกับดูแล ปัจจุบันการผลิตต้องเป็นสูตรตามกำหนด คือ ต้องมีแอลกอฮอล์ความเข้มข้น 70% ปัจจุบันมีสูตรตำรับ 2,613 ตำรับ มีสถานที่ผลิต 766 แห่ง กำลังการผลิตประมาณเกือบ 90 ตัน
วิธีใช้เจลล้างมือถูกวิธี
โดยผู้ผลิตเจลแอลกอฮอล์จำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎหมาย คือ หากผลิตเจลล้างมือแอลกอฮอล์ต้องมีความเข้มข้น 70% ขึ้นไป เพื่อให้ อย.รับรอง และได้รับเลขจดแจ้งผลิตภัณฑ์ ส่วนผู้ที่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม ทั้งการผลิต และนำเข้าเจลแอลกอฮออล์ไม่ได้มาตรฐาน หรือต่ำกว่า 70% จะมีบทลงโทษฐานผิดกฎหมายเครื่องสำอาง มีโทษจำคุก 2 ปี หรือปรับ 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนคนขายก็จะมีโทษจำคุก 6 เดือน และปรับ 50,000 บาท
เลขาธิการ อย. กล่าวอีกว่า สำหรับการใช้เจลล้างมือ ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ จะต้องใช้ด้วยวิธีการที่ถูกต้อง โดยควรลูบให้ทั่วฝ่ามือ และนิ้วมือ ทิ้งไว้ 20-30 วินาที จนแอลกอฮอล์แห้ง หากใช้แล้วไม่รอให้แห้งไปหยิบจับสิ่งต่างๆ ก็จะทำให้ประสิทธิภาพลดน้อยลง นอกจากนี้ต้องระมัดระวังการเก็บหรือการใช้ อย่าวางเจลใกล้ความร้อนหรือเปลวไฟ เพราะแอลกอฮอล์ติดไฟได้ง่าย อาจเกิดอุบัติเหตุทำให้บาดเจ็บได้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
สคบ.เตือน "เจลล้างมือ" ติดไฟได้ สาเหตุมีแอลกอฮอล์
เช็กด่วน! 10 สถานที่เสี่ยงแพร่เชื้อโรคโควิด-19