วันนี้ (2 เม.ย.2563) นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประชุม ครม.นัดพิเศษในวันพรุ่งนี้ (3 เม.ย.) เนื่องจากมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะพิจารณาเรื่องการให้ความช่วยเหลือประชาชน และมาตรการที่ออกไปแล้วทั้งระยะที่ 1 และ 2 โดยนายกรัฐมนตรีต้องการให้รัฐมนตรีทุกกระทรวงมาหารือร่วมกันว่าครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหรือไม่
ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังรับผิดชอบ มาตรการระยะ 1 และ 2 ที่กระทรวงการคลังเสนอให้ชดเชย 5 พันบาท 3 เดือนกับผู้ได้รับผลกระทบ 3 ล้านคน แต่ภายหลังพบว่าผู้ประกันตนมาตรา 39 (ประมาณ 1.6 ล้านคน) และมาตรา 40 (ประมาณ 3.3 ล้านคน) ไม่มีสิทธิประโยชน์การว่างงาน และผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่จ่ายเงินสมทบยังไม่ครบ 6 เดือนอีกเจ็ดหมื่นกว่าคน ก็ยังไม่ได้สิทธิประโยชน์การว่างงานตรงนี้
จึงต้องมาหารือเพิ่มเติมใน ครม เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาอีกเกือบ 6 ล้านคน ดังนั้นจึงมีผลกระทบต่อวงเงินงบประมาณที่ได้วางแผนเอาไว้ ดังนั้นสำหรับการออกมาตรการระยะที่ 3 และ 4 จึงจัดให้มีการประชุม ครม นัดพิเศษ เพื่อให้มีการรับฟังข้อมูลมาตรการเยียวยาจากทุกกระทรวง ให้ได้มีการหารือกันให้ครอบคลุมทั่วถึง ไม่ซ้ำซ้อน จะได้กำหนดกรอบวงเงินงบประมาณที่เหมาะสมต่อไป
นอกจากที่ประชุมจะหารือถึงงบประมาณแล้ว จะได้มีการหารือรวมไปถึงแหล่งเงินสำหรับกรอบวงเงินงบประมาณดังกล่าวว่าจะมาจากแหล่งใด มาตรการทางการเงินการคลังคืออะไร กฎหมายเปิดให้ทำได้มากน้อยแค่ไหนในการหาแหล่งเงินทุนมาดูแลผู้ได้รับผลกระทบ
ส่วนที่มีการพูดถึงกรณีที่รัฐบาลอาจขออกพระราชกำหนดกู้เงินนั้น โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีระบุว่าต้องศึกษากฎหมายว่าเปิดให้ทำได้มากน้อยแค่ไหนเพราะมาตรา 140 ของรัฐธรรมนูญ ระบุว่าการจ่ายเงินแผ่นดิน จะทำได้เฉพาะที่ได้อนุญาตไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย ซึ่งงบประมาณของปี 2563 ไม่ได้กำหนดรายการนี้เอาไว้ แต่ทั้งนี้ยังมีช่องทางของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของกระทรวงการคลัง ที่จะนำมาหารือว่ามีช่องทางอื่นที่จะให้กู้เงินหรือไม่
ส่วนการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นายกรัฐมนตรีได้ประเมินสถานการณ์ในทุกวัน ตลอดการประกาศใช้ แต่ทั้งนี้กระทรวงมหาดไทย โดยแต่ละจังหวัดได้มีการประเมินร่วมด้วยว่ามาตรการในแต่ละจังหวัดของตัวเองเพียงพอหรือไม่ ซึ่งหากไม่เพียงพอสามารถเพิ่มมาตรการได้เลย