วันนี้ (3 เม.ย.2563) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ แถลงสถานการณ์การเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุข โดยระบุว่า หลังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เสนอให้ประกาศผู้ป่วย COVID-19 เป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน กระทรวงสาธารณสุขได้ระดมทรัพยากรทั้งหมดมาดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง
ในกรณีค่าใช้จ่ายด้านการรักษา COVID-19 หากเป็นชาวต่างชาติสามารถใช้สิทธิประกันสุขภาพที่มีอยู่ได้ ส่วนคนไทยหากมีประกันสุขภาพอยู่แล้วก็สามารถใช้ตามสิทธิประกันสุขภาพ ส่วนผู้ที่ไม่มีประกันสุขภาพนั้นจะสามารถใช้สิทธิบัตรทองได้ โดยสปสช.จะออกค่าใช้จ่ายให้
ภาพ : กระทรวงสาธารณสุข
การจัดการสิทธิบริการด้านสาธารณสุขทั้งหมดนี้ จะทำให้ทุกคนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษา COVID-19 ทั้งเคสผู้ป่วยในและเคส PUI
ทั้งนี้ การออกแบบหลักการณ์กระทรวงสาธารณสุขได้สั่งการให้ สปสช.เป็นเคลียร์ริ่งเฮาส์ ประสานการเบิกจ่ายทั้งหมด รวมถึงการตั้งเบิกจ่ายของเอกชนด้วย โดยหลังจากนี้คาดว่าโรงพยาบาลเอกชนจะมีความมั่นใจและเข้าร่วมให้บริการด้านการรักษา COVID-19 เพิ่มมากขึ้น
2 โรงพยาบาลเอกชนยื่นทำโรงพยาบาลสนาม
สำหรับการดำเนินการรองรับผู้ป่วยในประเทศนั้น ในวันนี้ได้มีการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สถานพยาบาลอื่นซึ่งได้รับการยกเว้นไม่ต้องอยู่ในบังคับตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล กรณีให้บริการเฉพาะผู้ป่วยโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 หรือโรคโควิด 19(COVID-19) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันนี้ (3 เม.ย.2563)
ประกาศดังกล่าวจะทำให้โรงพยาบาลเอกชนสามารถดำเนินการตั้งโรงพยาบาลสนามได้เป็นการชั่วคราว เพื่อรองรับการดูแลผู้ติดเชื้อ COVID-19 เท่านั้น โดยที่จะเป็นการยกเว้นไม่ต้องดำเนินการเหมือนการขอจัดตั้งสถานพยาบาลทั่วไป ทำให้สามารถจัดตั้งได้โดยเร็ว ดำเนินการได้ทันที เบื้องต้น มีโรงพยาบาลเอกชนยื่นขอดำเนินการโรงพยาบาลสนามแล้ว ซึ่งจะทำให้มีเตียงรองรับผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างร้อย 60 เตียง
เตรียมโรงแรม 290 เตียง รับคนไทยจากต่างประเทศ
ในส่วนการเปลี่ยนโรงแรมเป็นโรงพยาบาลสนาม (Hospitel) จะเป็นการรองรับผู้ป่วยที่มีอาการน้อยและมีอาการคงที่ในระยะเวลา 7 วัน โดยโรงแรมที่จะเข้ามาเป็นโรงพยาบาลสนามต้องผ่านการประเมินมาตรฐานจากกระทรวงสาธารณสุขก่อน โดยกรมการแพทย์ได้เข้าไปวางระบบไว้แล้ว
เบื้องต้น จัดให้แพทย์ 1 คน ดูแลผู้ป่วยต่อ 30 เตียง ทำให้โรงพยาบาลหลักสามารถย้ายผู้ป่วยอาการน้อยออกไปได้บางส่วน เพื่อรองรับผู้ป่วยรายใหม่ โดยพบว่ามีโรงแรมทั่วประเทศยื่นขอเป็นโรงพยาบาลสนามแล้วใน 24 จังหวัด จำนวนกว่า 100 แห่ง รวมประมาณ 16,000 เตียง ใน กทม.มากสุด 10,000 เตียง ขณะนี้โรงพยาบาลราชวิถีได้ใช้ไปแล้ว 1 แห่ง มีเตียง 200 เตียง คนไข้เข้าไปแล้ว 50 คน
สำหรับโรงแรมที่ยื่นเรื่องเข้ามาบางส่วนจะกลายเป็น Hospitel แต่บางส่วนอาจมีการพิจารณาเปลี่ยนเป็นพื้นที่สำหรับผู้ที่ต้องกักตัวดูอาการ 14 วัน หรือ Hotel Isolation
ทั้งนี้ สำหรับคนไทยที่จะเดินทางมาจากต่างประเทศนั้น ทั้งกลุ่มคนไทยจากอินโดนีเซีย และนักเรียนไทยโครงการแลกเปลี่ยน AFS จากสหรัฐอเมริกา กระทรวงสาูธารณสุขได้มีการหารือกับโรงแรมบางแห่งไว้แล้ว โดยสามารถรองรับได้ 290 ห้อง เริ่มมีการซ้อมรับมือและการดูแลเพื่อให้เกิดความถูกต้องตามมาตรฐานด้านสาธารณสุขแล้ว