วันนี้ (9 เม.ย.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จ.เชียงราย พบผู้ป่วยคนแรก เมื่อวันที่ 20 มี.ค.2563 กระทั่งถึงวันที่ 1 เม.ย.2563 ยังไม่พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ทำให้จำนวนผู้ป่วยสะสมยังอยู่ที่ 9 คน
นพ.ทศเทพ บุญทอง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า สาเหตุที่จำนวนผู้ป่วยไม่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการควบคุมเรื่องการเดินทางเข้าสู่จังหวัด และปิดสถานที่ซึ่งคาดว่าเป็นแหล่งแพร่ระบาด เนื่องจากพบว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อทั้ง 9 คน มีจำนวน 8 คน เดินทางมาจากต่างจังหวัด และมีเพียง 1 คน ติดจากคนใกล้ชิด
ส่วนมาตรการคัดกรองเริ่มตั้งแต่ปิดด่านพรมแดน คัดกรองสถานีขนส่ง สนามบิน มาถึงตั้งด่านจุดตรวจระหว่างจังหวัด ลดคนต่างถิ่นเข้ามาพื้นที่เหลือเพียง 4 เส้นทางหลัก หากพบว่ามีไข้หรือเป็นกลุ่มเสี่ยง ก็จะให้เข้าสู่กระบวนการสาธารณสุข
นพ.ทศเทพ บุญทอง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย และนพ.ไชยเวช ธนไพศาล ผอ.โรงพยาบาลศูนย์เชียงรายประชานุเคราะห์
ส่วนมาตรการควบคุมกลุ่มเสี่ยง เช่น แรงงานที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ตั้งแต่ 2 เม.ย.63 มี 2 ประเทศ คือ กัมพูชา และมาเลเซีย จำนวน 27 คน ทีมแพทย์ให้พักเพื่อกักตัวที่โรงแรมแห่งหนึ่งที่รองรับได้ 200 คน ขณะที่การตรวจหาผู้ติดเชื้อ จังหวัดมีศูนย์ตรวจโรค 2 แห่ง คือ รพ.ศูนย์เชียงรายฯ ตรวจได้มากกว่า 200 คนต่อวัน และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ (นางแล) สามารถตรวจได้ 180 คน ซึ่งทั้งสองแห่งสามารถคัดกรองผู้ป่วยได้มากกว่า 400 คนต่อวัน ซึ่งทุกคนสามารถตรวจได้ฟรี แต่ต้องผ่านคัดกรองจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด
และมีความเห็นของแพทย์มีอาการบางอย่าง เช่น ลิ้นไม่รับรส จมูกไม่รับกลิ่น กลุ่มโรคปอดอักเสบ การตรวจขั้นตอนตรวจได้ง่ายขึ้น ซึ่งข้อมูลจาก รพ.สต. อสม. สาธารณสุข โรงพยาบาลในพื้นที่ ช่วยกันคัดกรองกลุ่มคน เพื่อเร่งตรวจหากลุ่มเสี่ยงการแพร่ระบาดเพิ่ม
ด้าน นพ.ไชยเวช ธนไพศาล ผอ.โรงพยาบาลศูนย์เชียงรายประชานุเคราะห์ เปิดเผยถึงการรักษาและส่งผู้ป่วยกลับบ้านว่า นับตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค.-1 เม.ย. ผู้ป่วย 3 คนแรก เดินทางกลับบ้านได้ในวันที่ 7 เม.ย.และวันที่ 9 เม.ย.จะมีผู้ป่วยกลับบ้านได้อีก 3 คน
ส่วนผู้ป่วย 3 คนสุดท้าย การรักษาไม่พบเชื้อแล้ว ให้รอดูอาการ 14 วัน คาดว่าจะกลับบ้านได้วันที่ 14 เม.ย.63 หากไม่มีผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่ม จ.เชียงราย
ส่วนการส่งผู้ป่วยกลับบ้านยืนยันว่าได้ตรวจตามมาตรฐานการตรวจของกระทรวงสาธารณสุขคือ ผู้ป่วยหายต้องไม่พบเชื้อภายใน 14 วัน และอาการต้องดีขึ้น แพทย์จะเซ็นชื่อใบรับรองแพทย์กลับคืนสู่หมู่บ้าน ต่อจากนั้นสาธารณสุขจะมีกระบวนการสร้างความมั่นใจให้ชุมชน
ขณะที่ข้อปฏิบัติผู้ป่วยที่หายกลับบ้าน ต้องปฏิบัติตัว
- กลับไปยังใช้ชีวิตปกติไม่ได้ ให้อยู่อีกบ้านอีก 14 วัน ไม่ออกนอกบ้าน และให้สังเกตอาการตัวเองอย่างใกล้ชิด
- ล้างมือด้วยสบู่ ดีที่สุด แอลกอฮอล์ใช้เมื่อไม่มีน้ำ
- ระหว่างที่อยู่บ้านมั่นสังเกตอาการ จะมีทีมสาธารณสุขในพื้นที่ดูแลสุขภาพต่อ และให้กำลังใจ แนะนำการปฏิบัติตัวในชุมชน
- พฤติกรรม และการใช้ชีวิตประจำวันผู้ป่วยที่หาย จะเข้ามาทักทาย พูดคุยปกติไม่ได้ ต้องปรับพฤติกรรมในช่วงแรกระหว่างสังเกตอาการ
- การรับประทานอาหารในบ้านได้ แต่ต้องแยกชุด แยกจาน แยกชาม และช้อน ห้องน้ำ ถ้าเป็นไปได้ควรแยก และเสื้อผ้าซักก็ต้องซักแยก
สำหรับ จ.เชียงราย เป็นพื้นที่จังหวัดที่เฝ้าระวังแห่งหนึ่ง เพราะมีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านถึง 2 ประเทศ และยังค้าขายกับประเทศจีนในมณฑลยูนนาน และมีชาวจีนมาอาศัยที่ฝั่งตรงข้าม อ.เชียงแสน จ.เชียงราย จำนวนมาก ซึ่งเสี่ยงแพร่เชื้อเพราะเป็นประเทศแรกที่มีการระบาด ส่วนท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงเชียงราย และสถานีขนส่งมีผู้โดยสารจำนวนมาก เพราะเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มียอดนักท่องเที่ยวแต่ละปีมากกว่า 3 ล้านคน