วันนี้ (14 เม.ย.2563) พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 อีกกลุ่มเสี่ยงที่ต้องป้องกันตนเองเป็นพิเศษ คือ กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ หญิงหลังคลอด และทารกแรกเกิด ถึงจะยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่ามีโอกาสติดเชื้อมากกว่าคนทั่วไปหรือไม่ แต่เนื่องจากหญิงตั้งครรภ์มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย จึงมีโอกาสเสี่ยงทำให้เกิดการติดเชื้อไวรัสตระกูลเดียวกับ COVID-19 และไวรัสชนิดอื่นที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจอื่น
กรณีหญิงตั้งครรภ์ และหญิงหลังคลอดที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ผู้ที่มีประวัติเดินทางมาจากประเทศ กลุ่มเสี่ยง หรือสัมผัสหรือใกล้ชิดผู้ป่วย COVID-19 ควรแยกตนเองมีพื้นที่ส่วนตัวและสังเกตอาการจนครบ 14 วัน โดยงดการใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น งดการออกไปในที่ชุมชนสาธารณะโดยไม่จําเป็นและงดการพูดคุย หรืออยู่ใกล้ชิดกับผู้อื่นในระยะใกล้กว่า 2 เมตร
ทั้งนี้ หากครบกำหนดนัดฝากครรภ์ ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ทราบว่าตนเองอยู่ระหว่างการเฝ้าระวัง 14 วัน เพื่อพิจารณาเลื่อนการฝากครรภ์ และปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ อย่างเคร่งครัด กรณีเจ็บครรภ์คลอดต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที แจ้งเจ้าหน้าที่ให้ทราบว่าตนเองอยู่ระหว่างการเฝ้าระวัง
อ่านข่าวเพิ่ม หมออู่ฮั่นพบ "ทารก" ติดไวรัสโคโรนาหลังคลอด 30 ชม.
กินนมแม่เสี่ยงติด COVID-19 หรือไม่
พญ.พรรณพิมล กล่าวอีกว่า ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการในการแพร่เชื้อไวรัส COVID-19 ผ่านทางน้ำนม เด็กทารกจึงกินนมแม่ได้ ทั้งกลุ่มปกติ กลุ่มเสี่ยงและกลุ่มติดเชื้อ
โดยก่อนเตรียมนมและการปั๊มนม แม่ควรอาบน้ำหรือเช็ด ทำความสะอาดบริเวณเต้านมหัวนมด้วยน้ำและสบู่ ล้างมือให้สะอาดนานอย่างน้อย 20 วินาที หรือแอลกอฮอล์เข้มข้น 70 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป
รวมทั้งสวมหน้ากากอนามัย ขณะเตรียมนมและการปั๊มนม เมื่อปั๊มนมเสร็จ ต้องล้างทำความสะอาดอุปกรณ์ เช่น ที่ปั้มนม ขวดนม ด้วยน้ำยาล้างอุปกรณ์ และทำการนึ่งเพื่อฆ่าเชื้อ
สำหรับเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ พ่อแม่ไม่ควรสวมหน้ากากให้เด็ก เพราะเด็กเล็กระบบการหายใจยังไม่แข็งแรงพอ อาจทำให้เด็กหายใจติดขัดได้
สำหรับกรณีที่แม่เป็นกลุ่มเสี่ยงหรือแม่ที่ติดไวรัส COVID19 กรมอนามัย มีคำแนะนำดังนี้
- ต้องแยกแม่ออกลูก
- หาผู้ช่วยเหลือที่มีสุขภาพแข็งแรง รู้วิธีป้อนนมที่ถูกต้อง และปฏอบัติตามวิธีการป้องกันตัวเองอย่างเคร่งครัด
- ใช้อุปกรณ์การป้อนนม เช่น ช้อน ถ้วยเล็ก ขวดนม
- หากแม่พ่ออยู่เพียงลำพัง สามารถป้อนนมลูก ได้แต่ต้องปฏิบัติตามแนวทางเพื่อป้องกันการติดเชื้ออย่างเคร่งครัด
- หลังการปั๊มนม ต้องล้างทำความสะอาด ขวดอุปกรณ์ที่กินนม ขวดนม จากนั้นผึ่งหรือต้มฆ่าเชือ และเก็บอุปกรณ์ในบรรจุภัณฑ์ที่สะอาด
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ระยองพบ "ทารก" อายุ 1 เดือน ป่วย COVID-19
ศบค.ชี้กลุ่มดาวะห์จากอินโดนีเซียป่วยยกลำ 61 คน