นายกฯ ยังให้เข้มระยะห่าง หลังมีภาพคนแย่งซื้อแอลกอฮอล์

การเมือง
5 พ.ค. 63
13:48
321
Logo Thai PBS
นายกฯ ยังให้เข้มระยะห่าง หลังมีภาพคนแย่งซื้อแอลกอฮอล์
นายกรัฐมนตรี ตำหนิกรณีเกิดเหตุการณ์ประชาชนรุมแย่งซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ระบุผู้ประกอบการต้องปรับการให้บริการเพื่อให้ผ่านพ้นระยะที่ 1 และผ่อนปรนระยะที่ 2 ต่อไป โดยยอมรับว่าอาจต้องเตรียมการรับผลกระทบไปอีก 6-9 เดือน

วันนี้ (5 พ.ค.2563) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ถึงกรณีการผ่อนปรนมาตรการดูแลสถานการณ์ COVID-19 ว่า ยังมีหลายเรื่องที่ต้องปรับปรุง ทั้งความร่วมมือของภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการ และประชาชน ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนผู้มีรายได้น้อย ซึ่งต้องมีมาตรการดูแลอย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในด้านสาธารณสุขอย่างต่อเนื่องและเข้มข้น เพราะยังวางใจในเรื่องเหล่านี้ไม่ได้

ห้างร้านและผู้ประกอบการต่างๆ ต้องมีการปรับตัวหลังการผ่อนปรน โดยเฉพาะการกำหนดระยะห่างสำหรับประชาชน ที่มาจับจ่ายซื้อของ และจะต้องคำนึงถึงมาตรฐานทางด้านสาธารณสุข

นายกรัฐมนตรียังตำหนิกรณีประชาชนรุมแย่งซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะได้สั่งการให้ดำเนินการตามข้อกำหนด ในการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปแล้ว ทั้งการกำหนดปริมาณประชาชนที่ใช้บริการ และระยะเวลาในการเปิดขาย ซึ่งจะต้องดูแลไม่ให้เกิดภาพเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นอีก และขอเตือนไปยังภาคเอกชนให้ปฏิบัติตามมาตรการที่ได้กำหนดไว้ ไม่เช่นนั้นอาจจะถูกปิดให้บริการ หากผ่านมาตรการระยะที่ 1 ไป 14 วันแล้ว ก็จะเข้าสู่ระยะที่ 2 เพื่อผ่อนปรนให้เปิดกิจการอื่นๆต่อไป

 

ดังนั้นขอให้ผู้ประกอบการ ดำเนินการตามข้อกำหนดอย่างเคร่งครัด เช่น การจัดระเบียบให้อยู่ในสถานประกอบการแต่ละแห่งไม่เกิน 2 ชั่วโมงหรือพิจารณาตามความเหมาะสม แต่จะต้องไม่เกิดความแออัดหรือแย่งชิงขึ้นอีก

ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่จะต้องมีพื้นที่รับรอง ก่อนที่จะให้ประชาชนทยอยเข้าไปซื้อของและจะต้องมีมาตรการคัดกรอง ทั้งนี้ยังมีความกังวลกรณีสถานบริการขนาดเล็กบางแห่งที่อาจจะยังมีมาตรฐานไม่รัดกุมเท่ากับห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่

จะต้องไม่ให้การ์ดตกโดยเด็ดขาด แม้แนวโน้มผู้ติดเชื้อมีตัวเลขที่ลดลงเหลือหลักเดียว และในวันนี้พบผู้ติดเชื้อเพียง 1 คน โดยประเด็นสำคัญต้องอาศัยความร่วมมือสื่อมวลชนสร้างความเข้าใจกับประชาชน เพราะนายกรัฐมนตรีคนเดียว ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งหมด ต้องอาศัยความร่วมมือทุกฝ่าย

นายกรัฐมนตรียังระบุถึงกรณีรถไฟฟ้าเกิดปัญหาขัดข้อง ในช่วงที่มีผู้ใช้บริการหนาแน่นว่า ได้ตรวจสอบแล้ว พบว่ามีเหตุขัดข้องทางเทคนิค เกิดการชำรุดเรื่องสัญญาณ และเป็นช่วงที่มีประชาชนเข้ามาใช้บริการจำนวนมาก ซึ่งเป็นปัญหาทางเทคนิคไม่สามารถกำหนดไว้ล่วงหน้า แต่หลังจากนี้ต้องมีแผนงานรองรับ

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงการประสานขอความร่วมมือผู้ประกอบการขนาดใหญ่ 20 ราย หรือมากกว่านั้น ซึ่งทั้งหมดได้ตอบกลับมาแล้วว่า มีแผนดูแลลูกจ้างอย่างไร และในส่วนของรัฐบาลก็มีมาตรการในการดูแลลูกจ้างเช่นกัน

สิ่งสำคัญหลังจากนี้ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ยืนยันว่า จะให้ความร่วมมือในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยเฉพาะความร่วมมือในการช่วยพัฒนาระดับจังหวัด ตามศักยภาพของผู้ประกอบการธุรกิจรายใหญ่ที่มีห่วงโซ่ทางธุรกิจ

ส่วนมาตรการเยียวยา ขณะนี้ได้ดำเนินการไปแล้วในหลายกระทรวง ทั้งกระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงแรงงาน โดยใช้งบประมาณจาก พ.ร.ก.เงินกู้ ทั้งนี้จะไปติดตามการดำเนินการ ว่ามีปัญหาข้อขัดข้องอย่างไร หรือจะต้องขยายเพิ่มเติมในเรื่องใดหรือไม่ ทั้งนี้ขอชื่นชมหลายสมาคมที่ยืนยันจะดูแลแรงงานให้ดีที่สุด แต่ก็ขึ้นอยู่กับสายป่านของแต่ละสมาคม โดยได้หารือในคณะรัฐมนตรี และให้คณะทำงานไปดูแลการขับเคลื่อนใช้งบประมาณเงินกู้ให้เป็นไปตามแผนงาน

นายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า ผลกระทบจากสถานการณ์ครั้งนี้อาจไม่ใช่เพียงแค่ 3 เดือน แต่อาจจะต้องดำเนินการรองรับในอีก 6-9 เดือนข้างหน้า และยังได้เน้นเรื่องของการปรับตัว และวางแผนในการดำเนินการชีวิตแบบปกติใหม่ เช่น เรื่องการดูแลสุขภาพ

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง