วันนี้ (21 พ.ค.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพราะเป็นทางเลือกสุดท้าย ทำให้คนไทยในมาเลเซียกว่า 20 คน ยอมข้ามเเม่น้ำโกลก จ.นราธิวาส เพื่อกลับประเทศ แม้จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายในข้อหาหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย
บางคนไร้งานทำ ไม่มีรายได้ และไม่สามารถขอใบรับรองเเพทย์ในประเทศมาเลเซียได้ตามระเบียบ อีกทั้งการรอให้สถานทูตฯ จัดสรรให้เดินทางกลับประเทศตามระบบ โดยจำกัดแค่วันละ 100 คน ใน 5 ด่านหลัก ก็อาจล่าช้าเกินไปกับเงินในกระเป๋าที่น้อยลง ทำให้ทุกคนตัดสินใจข้ามน้ำมา
แม้ว่าทันทีที่มาถึง พวกเขาจะถูกนำตัวไปดำเนินคดีเปรียบเทียบปรับ และถูกเก็บน้ำลาย เพื่อตรวจสอบสารพันธุกรรม ก่อนเข้าสู่กระบวนการคัดกรองไวรัสโควิด 19 เเละกักตัว 14 แต่หลายคน ก็จำใจต้องเลือกเส้นทางนี้ โดยเฉพาะเมื่อใกล้ถึงวันสิ้นสุดเดือนถือศีลอด หรือฮารีรายอ ที่ทุกคนอยากกลับมาเห็นหน้าคนในครอบครัว
มาตรการคัดกรองยังถูกดำเนินการอย่างเข้มข้น สำหรับแรงงานไทยในมาเลเซียที่เดินทางกลับเข้าประเทศบริเวณด่านพรมแดนสุไหงโก-ลก โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาดหนักของไวรัส COVID-19 ในมาเลเซีย เช่นที่กรุงกัวลาลัมเปอร์
ไม่เพียงแต่เจ้าหน้าที่จะใช้มาตรการเข้มข้นในการคัดกรองคนกลับเข้าประเทศเท่านั้น แต่ก่อนถึงฮารีรายอ ในมัสยิดต่างๆ ของ จ.นราธิวาส ที่จะเปิดให้ละหมาดวันศุกร์พร้อมกันทั้งจังหวัดวันพรุ่งนี้ (22 พ.ค.) รวมถึงการละหมาดในฮารีรายอ ทำให้มัสยิดต่างๆ ต้องจัดเตรียมพื้นที่ตามมาตรการควบคุมโรค โดยเฉพาะการจัดทำจุดยืนละหมาด เพื่อเว้นระยะห่าง และการบังคับใช้มาตรการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด
กว่า 2 เดือน ที่มัสยิดต่างๆ ต้องปิด และงดกิจกรรมทางศาสนา แต่ในวันพรุ่งนี้ มัสยิดเกือบทุกแห่งใน จ.นราธิวาส จ.ยะลา และมัสยิดอีกกว่า 700 แห่งใน จ.ปัตตานี จะเปิดให้มีการละหมาดวันศุกร์พร้อมกัน ยกเว้นในพื้นที่ที่ยังถูกสั่งปิด ซึ่งแต่ละพื้นที่ได้มีการจัดเตรียมมัสยิด หรือ พื้นที่กว้าง เช่น สนามกีฬา หรือ ลานกิจกรรม เพื่อลดความเสี่ยงในการละหมาดรวม