วันนี้ (28 พ.ค.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมความสามารถในการใช้จ่ายเพื่อการศึกษาและผลกระทบจาก COVID-19 ของผู้ปกครองในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปี 2563 โดยระบุว่า ในช่วงนี้ของทุกปี ผู้ปกครองที่มีบุตรในวัยเรียนต้องเตรียมค่าใช้จ่ายสำหรับการเปิดเทอมใหม่ เช่น ค่าเทอม (สำหรับผู้ที่ส่งบุตรหลานเรียนโรงเรียนเอกชนและโรงเรียนนานาชาติ) ค่าบำรุงการศึกษาและกิจกรรมในโรงเรียน ค่าใช้จ่ายหนังสืออุปกรณ์การเรียนและเครื่องแต่งกายนักเรียน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม บรรยากาศการใช้จ่ายของผู้ปกครองในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปี 2563 นี้ แตกต่างไปจากปีที่ผ่านๆ มา เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อการมีงานทำและรายได้ของผู้ปกครองบางกลุ่มจากการที่ภาคธุรกิจต้องปิดตัว ขณะเดียวกัน ทางกระทรวงศึกษาธิการได้มีการเลื่อนการเปิดภาคการศึกษาใหม่ในปี 2563 เป็น วันที่ 1 ก.ค.2563 เพื่อลดความเสี่ยงแก่เด็กนักเรียน รวมถึงได้เตรียมแผนการเรียนออนไลน์ในระหว่างที่กำลังปิดเทอมและกรณี COVID-19 กลับมาระบาดอีกครั้ง
สำรวจกลุ่มตัวอย่าง 480 คน ตั้งแต่ 1 เม.ย.-10 พ.ค.
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้จัดทำการสำรวจพฤติกรรมความสามารถในการใช้จ่ายเพื่อการศึกษาและผลกระทบจาก COVID-19 ของผู้ปกครองในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปี 2563 (โดยเน้นกลุ่มผู้ปกครองที่มีบุตรหลานเรียนระดับชั้นอนุบาลจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย) ในช่วงระหว่างวันที่ 1 เม.ย. - 10 พ.ค.2563 จากกลุ่มตัวอย่าง 480 คน ซึ่งมีประเด็นดังนี้
ในช่วงของการเปิดเทอมใหญ่ปี 2563 นี้ จะเป็นช่วงลำบากของผู้ปกครองที่มีบุตรหลานในวัยเรียนอันเนื่องจากการระบาดของ COVID-19 โดยเฉพาะในมุมด้านการใช้จ่ายเพื่อการศึกษา จากผลสำรวจ พบว่าผู้ปกครองกว่า 88.9% มีความกังวลต่อสภาพคล่องทางการเงินที่จะนำมาใช้จ่ายเพื่อการศึกษาในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปี 2563 จากหลายสาเหตุ อาทิ เงินออมไม่เพียงพอ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการที่กิจการต้องปิดให้บริการชั่วคราวมีผลต่อรายได้และผู้ปกครองบางรายถูกเลิกจ้างชั่วคราว
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปี 2563 ผู้ปกครองในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล น่าจะมีการใช้จ่ายด้านการศึกษาสำหรับบุตรหลาน (นักเรียนระดับชั้นอนุบาลจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย) เป็นมูลค่าประมาณ 28,260 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.1% เมื่อเทียบกับผลสำรวจเมื่อช่วงเดียวกันของปีก่อน ผู้ปกครองส่วนใหญ่มีการปรับลดค่าใช้จ่ายในกลุ่มเครื่องแบบนักเรียนและอุปกรณ์การเรียนโดยซื้อเฉพาะที่มีความจำเป็น
ผู้ปกครองกังวลหากบุตรหลานไปเรียนช่วง COVID-19
นอกจากนี้ ผู้ปกครองกว่า 86% ยังมีความกังวลหากบุตรหลานกลับไปโรงเรียน และอยากเห็นสถาบันการศึกษามีมาตรการในการป้องกันเชื้อ COVID-19 อย่างเข้มงวดต่อเนื่อง อาทิ การคัดกรอง/ตรวจวัดไข้เด็กก่อนเข้าเรียน มีจุดให้บริการเจลล้างมือ การให้นักเรียนใส่หน้ากากอนามัย การบริหารจัดการพื้นที่ส่วนกลางของโรงเรียนไม่ให้มีความหนาแน่น การจัดระบบภายในห้องเรียนให้มีระยะห่างระหว่างกัน การทำความสะอาดและพ่นยาฆ่าเชื้อสม่ำเสมอทั้งในห้องเรียน บริเวณรอบๆ โรงเรียนและอุปกรณ์การเรียนการสอน การปรับ/ลดกิจกรรมกีฬาที่มีการสัมผัสใกล้ชิด และการปรับตารางเรียน อาจจะมีการสลับเวลาเรียนระหว่างชั้นเรียนเพื่อลดความแออัดในห้องเรียน/โรงเรียน เป็นต้น
สำหรับประเด็นการเรียนผ่านสื่อออนไลน์/ฟรีทีวี ซึ่งภาครัฐตั้งใจให้เป็นการเตรียมความพร้อมก่อนการเปิดเทอมนั้น เป็นแนวคิดที่ดีสำหรับการใช้เวลาในการเสริมทักษะความรู้ให้กับนักเรียนระหว่างรอเปิดภาคเรียนใหม่และการเตรียมพร้อมหากสถานการณ์ COVID-19 กลับมาระบาดอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม นอกจากความช่วยเหลือเพื่อสร้างความพร้อมให้กับผู้ปกครองและนักเรียนแล้ว การออกแบบเนื้อหาและรูปแบบอาจต้องมีการปรับให้มีความน่าสนใจและทำให้เกิดการฝึกฝนด้านทักษะและความคิด และสามารถสื่อสาร 2 ทางได้ เพื่อให้การเรียนออนไลน์เป็นช่องทางเสริมการเรียนในชั้นเรียนของนักเรียนในแต่ละระดับได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ การเปิดจุดบริการอย่างสถานที่ราชการให้นักเรียนที่ไม่มีความพร้อมในอุปกรณ์ให้สามารถเข้าถึงระบบการเรียนออนไลน์/ฟรีทีวีได้น่าจะช่วยลดช่องว่างการเข้าถึงการศึกษาลงได้