ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เริ่มแล้ว! NASA ปล่อยจรวด ส่งมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศในรอบ 9 ปี

Logo Thai PBS
เริ่มแล้ว! NASA ปล่อยจรวด ส่งมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศในรอบ 9 ปี
ภารกิจ "Demo-2" ของ NASA เริ่มแล้ว ปล่อยจรวด-ยานอวกาศทะยานสู่ท้องฟ้า โดยยานฯ เข้าสู่วงโคจรของโลกสำเร็จ เตรียมส่งนักบินอวกาศชุดแรกเข้าสู่สถานีอวกาศนานาชาติในวันนี้ (31 พ.ค.) 21.30 น. ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปีที่สหรัฐฯ กลับมาส่งมนุษย์สู่อวกาศ

วันนี้ (31 พ.ค. 63) องค์การบริหารการบินอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NASA) กลับมาเริ่มภารกิจส่งนักบินอวกาศขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station: ISS) จากแผ่นดินสหรัฐฯ ครั้งแรกในรอบ 9 ปีอีกครั้ง หลังจากเลื่อนภารกิจเมื่อวันที่ 28 พ.ค. 63 ออกไปเนื่องจากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย  

"จะเห็นได้ว่าเรื่องของลมฟ้าอากาศได้กลายเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จในการปล่อยจรวด ดังนั้นในการปล่อยจรวดแต่ละครั้ง บุคลากรในหน่วยงานหรือบริษัททางเทคโนโลยีอวกาศต้องทำงานร่วมกันกับนักอุตุนิยมวิทยาด้วย" สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) กล่าวผ่านเฟซบุ๊กเพจ

โดยช่วงเวลา 02.22 น. ตามเวลาในประเทศไทย จรวด Falcon 9 ถูกปล่อยออกจากศูนย์อวกาศเคนเนดี (Kennedy Space Center) รัฐฟลอริดา โดยพายานอวกาศ Crew Dragon และนักบินอวกาศ 2 คน ได้แก่ โรเบิร์ต เบห์นเคิน และดักลาส เฮอร์ลีย์ ออกจากพื้นดิน ทะยานสู่ชั้นบรรยากาศและวงโคจรของโลกได้เป็นผลสำเร็จ 

หลังจากนั้นไม่นาน จรวด Falcon 9 ก็กลับมาจอดบนแท่นที่อยู่บนพื้นดินได้อย่างเรียบร้อยเช่นเดียวกัน

ซึ่งหลังจากนี้ ยาน Crew Dragon ก็จะเดินทางไปถึงสถานีอวกาศนานาชาติในช่วงวันนี้ เวลา 21.30 น. (ตามเวลาในไทย) เพื่อร่วมกับทำงานกับทีมนักบินอวกาศชุด Expedition 63 ที่ประจำสถานีอวกาศแห่งนี้อยู่แล้ว คาดว่าภารกิจดังกล่าวจะเสร็จสิ้น และกลับสู่พื้นโลกได้ไม่เกินปลายเดือน ก.ย. 63

โดยนักบินอวกาศทั้ง 2 คน ต่างมีประสบการณ์ในการทำงานด้านนี้มาก่อน ประกอบด้วย "โรเบิร์ต แอล. เบห์นเคน" อดีตนักบินทดสอบกองทัพอากาศสหรัฐฯ เคยปฏิบัติภารกิจบนกระสวยอวกาศ Endeavour และ "ดักลาส จี. เฮอร์ลีย์" อดีตนักบินทดสอบนาวิกโยธินกองทัพสหรัฐฯ เคยปฏิบัติภารกิจทั้งบนกระสวยอวกาศ Endeavor และกระสวยอวกาศ Atlantis อีกด้วย

นับเป็นครั้งแรกที่ใช้จรวดและยานอวกาศจากภาคเอกชนอย่าง SpaceX แทนจรวด-ยานจาก NASA เอง และถือเป็นการกลับมาส่งนักบินอวกาศชาวสหรัฐฯ จากแผ่นดินมาตุภูมิสู่สถานีอวกาศนานาชาติครั้งแรกในรอบ 9 ปี

ซึ่งภารกิจ Demo-2 จะช่วยปูพื้นฐานให้กับทางบริษัท SpaceX ทดสอบระบบการส่งมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศ ตั้งแต่ฐานยิงจรวด ตัวจรวด ตัวยานบรรทุกนักบินอวกาศ และขีดความสามารถการปฏิบัติภารกิจในโครงการอวกาศ และยังเป็นครั้งแรกที่นักบินอวกาศของทาง NASA จะได้ทดสอบและฝึกใช้งานระบบยานอวกาศภาคเอกชน

นอกจากนี้ NASA ระบุในการถ่ายทอดสดช่วงก่อนปล่อยจรวดฯ และยานฯ ว่า การทดลองเทคโนโลยีในภารกิจครั้งนี้ ทำให้เห็นแนวทางการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการเตรียมภารกิจไปดวงจันทร์ในปี 67 

ขณะนี้ (04.11 น.) ยังมีการถ่ายทอดสดภารกิจ Demo-2 อยู่ สามารถติดตามได้จากยูทูปของ NASA และ SpaceX หรือติดจากวิดีโอด้านล่างนี้ได้เช่นกัน 

ทำความรู้จัก "สถานีอวกาศนานาชาติ" ที่ยาน Crew Dragon จะกำลังจะไปถึง

ขณะที่เฟซบุ๊กเพจสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้ระบุว่า สถานีอวกาศนานาชาติ หรือ ISS เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างองค์การอวกาศ 5 แห่ง ได้แก่ องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ (NASA), รัฐวิสาหกิจเพื่อกิจกรรมทางอวกาศรัสเซีย (Roscosmos), องค์การวิจัยและพัฒนาการสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA), องค์การอวกาศยุโรป (ESA) และองค์การอวกาศแคนาดา (CSA)

โดยเป็นสถานีอวกาศแบบประกอบโมดูลยานต่อกัน โคจรอยู่บริเวณวงโคจรระดับต่ำรอบโลก ที่ความสูงจากพื้นผิวโลกประมาณ 370-460 กิโลเมตร ถือเป็นวัตถุขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่มนุษย์สร้างในอวกาศ สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าตอนกลางคืนจากบนโลก ใช้เวลาโคจรรอบโลกประมาณ 93 นาที หรือโคจรรอบโลกได้ราว 15 รอบครึ่งใน 1 วัน

สถานีอวกาศแห่งนี้เริ่มประกอบจากชิ้นส่วนโมดูล 2 ส่วนแรกของสหรัฐฯ กับรัสเซียในปี 41 และเริ่มมีนักบินอวกาศมาใช้งานและอยู่อาศัยในปี 43

หลังจากนั้นได้ต่อโมดูลยานเพิ่มเติมเข้าไปอย่างต่อเนื่องจนสถานีอวกาศนานาชาติมีขนาดใหญ่ขึ้นดังเช่นปัจจุบัน และยังครองตำแหน่ง “สถานีอวกาศที่มีนักบินอวกาศอยู่อาศัยและโคจรรอบโลกยาวนานที่สุด” แซงหน้าสถานีอวกาศมีร์ (Mir) ของรัสเซียที่อยู่ในอวกาศนานเกือบ 10 ปี

ภาพจาก NARIT

ภาพจาก NARIT

ภาพจาก NARIT

ตัวสถานีอวกาศนานาชาติประกอบด้วย โมดูลยานที่ปรับความดันอากาศภายในหลายชิ้นส่วน โครงถักเพื่อใช้เป็นโครงสร้างของตัวสถานี แผงเซลล์สุริยะ ระบบควบคุมความร้อน ตัวเชื่อมต่อเทียบสถานีอวกาศเข้ากับยานลำอื่น พื้นที่ทดลองทางวิทยาศาสตร์ และแขนกล

โมดูลยานส่วนใหญ่ที่ประกอบกันเป็นสถานีอวกาศแห่งนี้ ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศด้วยจรวดโปรตอนกับจรวดโซยุซของรัสเซีย และยานขนส่งอวกาศของสหรัฐฯ

สถานีอวกาศนานาชาติยังมียานลำอื่น ๆ มาเทียบท่าอยู่บ่อยครั้ง เช่น ยานบรรทุกนักบินอวกาศอย่างยานขนส่งอวกาศของสหรัฐฯ ยานโซยุซของรัสเซีย หรือยานบรรทุกสัมภาระของรัสเซีย สหรัฐฯ องค์การอวกาศยุโรป ญี่ปุ่น และบริษัท SpaceX

หากนับถึงเดือน เม.ย. 63 สถานีอวกาศนานาชาติมีผู้มาเยือน ทั้งนักบินอวกาศชาติต่าง ๆ และนักท่องเที่ยวอวกาศ รวมกันแล้ว 240 คน จาก 19 ประเทศ โดยประเทศที่มีจำนวนผู้มาเยือนสถานีอวกาศนานาชาติมากที่สุด 3 ลำดับแรก คือ สหรัฐฯ รัสเซีย และญี่ปุ่น

ISS ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นห้องทดลองในอวกาศที่มีสภาวะความโน้มถ่วงต่ำ มีการทดลองทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหลายแขนง เช่น ชีวดาราศาสตร์ ดาราศาสตร์ อุตุนิยมวิทยา หรือฟิสิกส์ เป็นต้น รวมถึงใช้เป็นพื้นที่ทดสอบระบบยานอวกาศและอุปกรณ์ต่าง ๆ สำหรับโครงการส่งมนุษย์ไปสำรวจดวงจันทร์และดาวอังคารในอนาคต

----------------------------

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ #ThaiPBSSciAndTech
ได้ที่ Facebook : Thai PBS Sci & Tech
และ Twitter : @ThaiPBSSciTech 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง