จากกรณีที่มีผู้ใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนระบบ iOS ระบุว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้รับข้อความชักชวนเล่นการพนัน หลังจากโหลดแอปพลิเคชั่น “ไทยชนะ” สร้างความเดือดร้อนรำคาญเป็นอย่างมาก
วันนี้ (31 พ.ค.2563) นายสมคิด จิรานันตรัตน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล นวัตกรรมและการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล องค์การมหาชน ผู้ร่วมพัฒนาแพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” ชี้เเจงว่า จากรายงานการพบสแปมใหม่ที่เกิดขึ้นบนระบบ iOS ผ่านทาง iMessage ไม่เกี่ยวข้องกับ “ไทยชนะ” เพราะปัจจุบัน แอปพลิเคชั่นไทยชนะ มีให้บริการเฉพาะระบบแอนดรอยด์ ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้น มาจาก iMessage ก็ต้องไปดูว่า มีการรั่วไหลตรงไหน
ส่วนการสแกนเช็คอินหรือเช็คเอ้าท์ ไม่ต้องห่วงเรื่องความเป็นส่วนตัวข้อมูล เพราะระบบใช้ข้อมูลเฉพาะจีพีเอส (GPS) กับ ใช้กล้องตอนสแกนคิวอาร์โค้ดเท่านั้น ไม่มีการเข้าไปดูรูปหรือดูโปรไฟล์ ซึ่งข้อมูลไม่ได้รั่วไหลง่ายๆ
ระบุมีคนพยายามใช้ "ไทยชนะ" หาผลประโยชน์
ด้าน นายภุชพงค์ โนดไธสง รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอี ยืนยันว่า ไม่เคยวางระบบส่งเอสเอ็มเอส เข้าโทรศัพท์มือถือของประชาชน จากแอปพลิเคชั่น “ไทยชนะ” แต่กรณีมีข้อความชักชวนเล่นพนันส่งไปถึงประชาชน อยู่ระหว่างตรวจสอบเชิงลึก ร่วมกับ กองบังคับการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.)
เราสืบสวนมาระยะหนึ่งแล้ว หลังทราบว่า มีหลายกลุ่มพยายามใช้แอปฯ ไทยชนะ มาแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว และขอให้ประชาชนอย่ากดลิงก์เข้าไป ก็จะช่วยป้องกันได้ทางหนึ่ง
นายภุชพงค์กล่าวต่อว่า ได้กำชับผู้พัฒนาแอปฯ ไทยชนะ ให้วางระบบป้องกันให้ดี ขณะที่การลงชื่อเข้าใช้บริการร้านค้า ตามข้อกำหนดป้องกันการระบาดของโรค มี 2 รูปแบบ คือ ลงทะเบียนผ่านไทยชนะ และลงชื่อพร้อมเบอร์โทรศัพท์ในกระดาษ ถือเป็นความรับผิดชอบของร้านค้า ที่จะป้องกันข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลจากเว็บไซต์แบไต๋ดอทคอม รายงานว่า สแปมบน iPhone หรือ iMessage มีมาอย่างต่อเนื่อง และไม่ได้พบในประเทศไทยเท่านั้น เช่น ในปี 2557 (2014) เจ้าหน้าที่ด้านความปลอดภัยและต่อต้านสแปมจากบริษัท Cloudmark รายงานว่า iMessage มีข้อความสแปม คิดเป็นสัดส่วนถึง ร้อยละ 30 ของข้อความสแปมทั้งหมด ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่สูงมาก ซึ่งในปีนั้นมีการส่งข้อความสแปม นำเสนอโปรโมชั่นของสินค้าหลายยี่ห้อ ที่ไม่เป็นจริง
ผู้เชี่ยวชาญยันสแปมไม่เกี่ยว “ไทยชนะ”
นายปริญญา หอมเอนก ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ยืนยันว่า เป็นความเข้าใจผิด เป็นจิตวิทยาหมู่ เพราะตนก็ได้รับข้อความลักษณะเดียวกันในสมาร์ทโฟน ที่ไม่เคยใช้สแกนในแอปพลิเคชั่นไทยชนะ ซึ่งแอปฯ ดังกล่าว ร้องขออนุญาตเข้าถึงสิทธิของผู้ใช้งานน้อยมาก เมื่อเทียบกับแอปฯ อื่นๆ มีเพียงแค่ขอเข้าถึงฟีเจอร์ภาพถ่าย เพราะจำเป็นต้องสแกนคิวอาร์โค้ดเช็คอินและเช็คเอ้าท์ และไม่ได้แกะรอยผู้ใช้งาน เพียงแต่ต้องการทราบว่าผู้ใช้งานอยู่ในร้านใด สถานที่ใด หากพบผู้ติดโรค COVID-19 ก็จะสามารถติดตามได้
ส่วนข้อความที่ส่งเข้ามาคือ iMessage ที่ผูกกับบัญชีอีเมลล์ ตำแหน่งที่อยู่ เป็นเรื่องที่เกิดมานาน 10 ปี แต่ระบบปฎิบัติการของแอปเปิ้ล ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ แม้จะบล็อคได้บางส่วน เพราะแฮกเกอร์พยามจะแฮกเข้ามาตลอด เช่นเดียวกับค่ายโทรศัพท์มือถือในไทย ก็ไม่สามารถบล็อคได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะจะเป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค และเชื่อว่าแฮกเกอร์จะพยายามเข้าถึงอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้งของผู้บริโภค
ดังนั้นผู้บริโภคต้องให้ทำความเข้าใจ อย่าคลิกข้อความไวรัส หรือมาร์แวร์ รวมถึงไม่อนุญาตให้ข้อมูลเข้าถึงสิทธิข้อมูลส่วนตัว เพื่อป้องกันระดับหนึ่ง ขณะที่รัฐบาลต้องให้ข้อมูลเพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชนด้วย