5 วันเต็ม ถก พ.ร.ก.เงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาท ไม่ขาดตกถกครบประเด็น การบ้าน-การเมือง ที่เดินเครื่องทั้งในและนอกสภาฯ
ที่สุด... พ.ร.ก.3 ฉบับ ผ่านสภาฯ ฉลุย ไม่ผิดโผผิดคาด มติ 274 ต่อ 0 งดออกเสียง 207 ขณะที่ฝ่ายค้านนำโดย ประธานวิปฯ อ้างว่า ยอมให้ผ่านด้วยความข่มขื่น
...ถ้าชนทุกเรื่องก็ถูกกล่าวหา ว่าฝ่ายค้านค้านทุกเรื่อง ขวางทุกทาง แต่หากเห็นด้วยบางเรื่องก็ถูกกล่าวหาว่า “ซูเอี๋ย”... คำพูดของ สุทิน คลังแสง ที่มีต่อประธาน ชวน หลีกภัย อดีตฝ่ายค้านมืออาชีพ
ในบรรดา พ.ร.ก. 3 ฉบับในสภาฯ พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท เป็นพ.ร.ก.ที่ถูกอภิปรายมากสุด ไม่เฉพาะ ส.ส.ฝ่ายค้าน แต่รวมถึง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล เช่น ประชาธิปัตย์ และ ภูมิใจไทย ร่วมอภิปรายด้วย
เพราะเงินกู้ก้อนนี้สูงสุดในบรรดา 3 พ.ร.ก. มีทั้งเงิน แก้ไข(ใช้ด้านสาธารณสุข) เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจ
1.
เงินกู้ที่จะถูกใช้ “ด้านสาธารณสุข” เหมือนจะเป็นประเด็นร้อน ที่ฝ่ายค้านรุมชำแหละ
เช่น ส.ส.พรรคก้าวไกล ชี้ให้เห็นว่า งบฯ ก้อนที่จะจัดสรรไปยังสาธารณสุขมีเพียง 4.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเหมารวม ค่าตอบแทน ค่าเสี่ยงภัย ค่าวัคซีน ฯลฯ
เชื่ออาจไม่พอต่อการพัฒนาวัคซีน ทั้งที่เห็นวัคซีนเป็นทางรอดที่จะหยุดโควิด-19 ได้ชะงัก
จึงขอเสนอปรับเงินส่วนนี้ เพิ่มเป็น 1 แสนล้านบาท เพื่อให้พัฒนาวัคซีนใช้ได้ทันการณ์
อ่านเพิ่ม ศึกวันดวลหมอ! “หมอเอก-หมอหนู” เห็นพ้องทุ่มเงินกับ “วัคซีน”
ไม่เว้นแม่แต่ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ที่ลุกขึ้นอภิปราย และเสนอให้ “เพิ่ม” งบฯ ด้านสาธารณสุข โดยเปิดข้อมูลจากการลงพื้นที่ในจังหวัดชายแดนใต้
ชี้ให้เห็นว่ายังมีบุคลากรทางการแพทย์ที่ขาดแคลนเครื่องมืออุปกรณ์และความพร้อม
ที่หนักสุดน่าจะเป็นการยกตัวอย่าง รพ.บางแห่ง ที่มีชุดป้องกัน หรือ พีพีอี ไม่เพียงพอ และยังต้องสลับใส่กับชุดกันฝน ทั้งที่เป็นพื้นที่เสี่ยง
ไม่นับรวมการจ่ายเบี้ยอุดหนุนเบี้ย อสม. ที่หลายพื้นที่ต่างกันอยู่มากขึ้นอยู่กับแต่ละท้องถิ่น
บางที่ได้หลักร้อยต่อวัน บางที่ได้แค่ข้าวกล่องกับน้ำ
อ่านเพิ่ม “เพชรดาว” หนุนจ่ายเบี้ยเลี้ยง อสม.เท่ากัน เหตุบางแห่งได้แค่ข้าวน้ำ
2.
เงินกู้ก้อนนี้ อีกชุดหนึ่งที่ถูกอภิปรายมากเป็นพิเศษ คือการขอเงิน “ฟื้นฟูเศรษฐกิจ” ที่มีหัวหอกสำคัญเป็น ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้อภิปราย
กลัวว่าการเร่งรัดให้ “จังหวัด” เสนอโครงการขอเงินฟื้นฟูเศรษฐกิจ จะเป็นการส่งเสริมให้ “ไอ้โม่ง” ฮั้วกับเจ้าหน้าที่ ปัดฝุ่นโครงการเก่าแล้วเสนอใหม่ ไม่ได้ฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างที่หวัง
เพราะเงินก้อนนี้เป็นเงินก้อนใหญ่ ปิดเพดานงบฯ ไว้ที่จังหวัดละ 5,000 ล้านบาท
เรื่องนี้จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ พรรคประชาธิปัตย์ มีมติหนุนตั้ง กมธ.วิสามัญตรวจสอบการใช้งบฯ สอดรับกับทิศทางของฝ่ายค้าน ที่เห็นว่าการอนุมัติงบฯ จากเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท มี "คกก.กลั่นกรอง" เป็นข้าราชการเพียงไม่กี่คน และที่เหลือเป็นที่นายกฯ แต่งตั้ง
ไม่เพียงเท่านั้นยังเห็นช่อง “ทุจริต” ตั้งแต่ยังไม่เริ่ม พรรคเพื่อไทย เปิดเอกสารกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา เร่งให้จังหวัดเร่งเสนอโครงการ ภายใน 5 มิ.ย. ชวนตั้งข้อกังขาเกี่ยวกับความรอบคอบของโครงการ
นับจากวันนี้ มีเวลา 5 วันเร่งส่งโครงการ หลักร้อยล้าน-หลักพันล้าน
อ่านเพิ่ม "ประชาธิปัตย์" แท็กทีมฝ่ายค้าน หนุนตั้ง กมธ.วิสามัญ สอบใช้เงินกู้
3.
เรื่องการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับเอสเอ็มอี เขียนใน พ.ร.ก. ฉบับที่ 2 ให้อำนาจ ธปท. ปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) ผ่านธนาคารพาณิชย์ไว้ปล่อยกู้เอสเอ็มอี
เรื่องนี้มีปัญหา 2 ข้อใหญ่
1.) เอสเอ็มอีรายย่อยเข้าถึงยาก เพราะเครติดดีไม่เท่ารายใหญ่ และยังมีอีกหลายเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรค ที่สำคัญประเด็นนี้ไม่ได้มีเฉพาะ ส.ส.ฝ่ายค้าน ส.ส.ขั้วรัฐบาลอย่างพรรคประชาธิปัตย์
ยังมี ส.ส. พปชร. อย่าง “มาดามเดียร์” วทันยา วงษ์โอภาสี ร่วมอภิปรายชี้ให้เห็นเงื่อนไขของ ธปท. ที่กีดกันเอสเอ็มอีรายย่อยด้วย
2.) เอสเอ็มอีถูก “โขก” ดอกเบี้ยจากธนาคาร แม้ ธปท.จะมีข้อกำหนดห้ามปล่อยกู้ดอกเบี้ยเกิน 2% แต่ในทางปฏิบัติกลับพบว่ามีธนาคารฉวยโอกาสเพิ่ม ค่าธรรม หรือ “ขายพ่วง” เงื่อนไข อื่นๆ รวมแล้วดอกเบี้ยทะลุเพดาน
มิหน่ำซ้ำยังมี ส.ส.พรรคก้าวไกล และพรรคประชาธิปัตย์ อ้างข้อมูลไปในทิศทางเดียวกัน ว่ามี “นายทุนใหญ่” นำเงินกู้ไปปล่อยกู้ต่อ หรือบางรายหนักกว่านั้น นำไป “เล่นหุ้น”
ดังที่มี ส.ส.อ้างว่าถูกครเป็น “รัฐบาลอุ้มคนรวยอวยเศรษฐี”
อ่านเพิ่ม"ซอฟท์โลน" กับข้อกล่าวหาเอื้อนายทุน ปล่อยกู้ต่อ-ใช้เล่นหุ้น
ร่ายมาถึงบรรทัดนี้ จะเห็นว่าในบรรดา พ.ร.ก. 3 ฉบับ ฉบับที่ 3 ดูได้ยินเสี่ยงแผ่ว คือ พ.ร.ก.ที่ให้อำนาจ ธปท. นำเงินไปลุงทุนเพื่ออุ้มตลาดตราสารหนี้ อาจเป็นเพราะประเด็นนี้ถูกโยงไปยังประเทศที่ฝ่ายค้านกล่าวหารัฐบาลอุ้มเจ้าซัวผ่านโครงการต่างๆ ไปแล้ว
“หมากเกมนี้ ฉันพอรู้ว่าจะต้องลงเอยอย่างไร...” เหมือนจะเป็นสีสันในสภาฯ เมื่อประธานวิปฝ่ายค้านร้องเพลงในวันปิดอภิปราย
แน่นอน นัยยะหมายถึงฝ่ายค้านต้องยอมโหวตผ่าน ไม่ว่าจะ “ข่มขื่น” หรือไม่ เพราะหากโหวต “ไม่เห็นด้วย” ก็เสี่ยงถูกตีความว่าฝ่ายค้านไม่เห็นแก่ประชาชน
เพราะเงินจำนวนนี้ย่อมส่งไปยังประชาชน และย่อมต้องชดใช้ (หนี้) ด้วยประชาชน
สำหรับการอภิปราย 5 วัน อย่างน้อยคงไม่ใช่ “การจำยอม” รับสภาพการตรากฎหมายเพื่อใช้เงิน 1.9 ล้านล้านบาท (ที่ทยอยใช้ไปแล้ว)
แต่ด้านหนึ่งเราได้เห็น “หมากเกมนี้” ที่มีช่องโหว่ช่องว่างที่จะต้องช่วยกันอุดและช่วยกันตรวจสอบ
ตามที่มีการอภิปราย และหลายประเด็น ส.ส.ไม่เฉพาะฝ่ายค้าน แต่มี ส.ส.รัฐบาล จากประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย และพลังประชารัฐ เห็น “ช่องโหว่”
จึงหวังว่าช่องโหว่นั้นจะไม่ถูกตีฝีปากโดยสูญเปล่า แต่หวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางปฏิบัติ
อย่างน้อยคือการ “กวดขัน” การใช้เงินก้อนนี้ที่สูงเป็นประวัติการณ์ 1.9 ล้านบ้านบาท