วันนี้ (7 มิ.ย.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวทีถกเงินกู้ในสภาสัปดาห์ก่อน ส.ส.ยังลุกขึ้นอภิปรายว่างบประมาณ 400,000 ล้าน ฟื้นฟูเศรษฐกิจ ควรเจียดไปใช้จัดการปัญหาแบนสารเคมีเกษตรให้จบก่อน ก่อนที่จะสร้างเกษตรวิถีใหม่ นิวนอมอล ปรับภาพลักษณ์ประเทศเป็นสถานที่ปลอดโรคปลอดภัย หรือปรับระบบการทำเกษตร เพราะเมื่อรัฐไม่ได้ปูทาง หลังการห้ามใช้สารเคมี 2 ตัว สิ่งที่เกษตรกรทำตอนนี้ ทางหนึ่งคือหันไปหาสารเคมีตัวอื่น ส่วนอีกทางระยะต่อไป คือการหันหลังให้สารเคมีเกษตรแล้วเดินตามเกษตรอินทรีย์ ไม่ใช่เป็นไปไม่ได้ แต่มันไม่ง่าย
พ.ต.อ.สุรศักดิ์ เปลี่ยนขำ
พ.ต.อ.สุรศักดิ์ เปลี่ยนขำ นายกสมาคมชาวไร่อ้อย จ.มหาสารคาม เป็นตัวอย่างหนึ่งของผู้ทำจริงจัง จนประสบความสำเร็จ มีอีกไม่น้อยที่ไปต่อไม่ไหว เพราะต้องฟันฝ่าหลายปัจจัย จริงๆ แล้วพื้นที่เกษตรอินทรีย์ขยายเพิ่มในทุกปี แต่หากเทียบกับการเกษตรทั่วไปแล้วยังน้อย เทียบได้แค่ 0.41 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่เกษตรทั้งหมด ไม่กี่แสนไร่ ยากที่จะทำให้ทุกแปลงพลิกโฉม นิวนอมอล กลายเป็นอินทรีย์ทั้งหมด หากยังปฏิเสธเกษตรเชิงพาณิชย์ไม่ได้ การปฏิเสธใช้สารเคมีสำหรับการปลูกพืชแปลงใหญ่ๆ อาจทำได้ยากเช่นกัน
"ดีเอสไอ" รับเรื่องเกษตรกรถูกหลอกนับพันราย
วิถีเกษตรอินทรีย์ก็ใช้ยาฆ่าหญ้าเหมือนกัน สารชีวภัณฑ์ฆ่าหญ้าได้ เป็นที่ต้องการ เพราะผลิตมาจากสิ่งมีชีวิตที่เชื่อว่าปลอดภัย ดีเอสไอได้รับข้อร้องเรียนว่าเกษตรกรจำนวนมากนับพันรายถูกหลอก จากสารชีวภัณฑ์หลายยี่ห้อที่ใช้วิธีการขายผ่านออนไลน์ เพื่อให้จับต้นตอได้ยาก สั่งจาก จ.ปทุมธานี อาจส่งจาก จ.บุรีรัมย์
ผลตรวจจากห้องปฏิบัติการกรมวิชาการเกษตร พบว่ามีส่วนผสมพาราควอตและไกลโฟเซต เกษตรกรใช้แล้วหญ้าตายคล้ายกับฤทธิ์ของสารเคมี เกษตรกรเวลาใช้มั่นใจว่าปลอดภัยก็ไม่ใส่อุปกรณ์ป้องกัน ผนวกกับกระแสแบนพาราควอตที่เป็นสารเคมี แม้ปราบปรามไปบางกลุ่ม แต่พบว่าสถานการณ์การหลอกลวงยิ่งรุนแรงมากขึ้น ดีเอสไอติดตามกลุ่มใหญ่อื่นต่อไป
ไม่เคยขึ้นทะเบียนสารชีวภัณฑ์ฆ่าหญ้าชนิดใด
สารชีวภัณฑ์ดังกล่าว ราคาลิตรละ 500 บาท พาราควอต 50 บาท กรมวิชาการเกษตรยืนยันยังไม่เคยขึ้นทะเบียนสารชีวภัณฑ์ฆ่าหญ้าชนิดใด ถ้าอ้างมีทะเบียนเชื่อได้ว่าอาจถูกหลอกลวง นอกจากสารชีวภัณฑ์ไม่แท้ที่ต้องจับตาแล้ว สารเคมีกำจัดวัชพืชชนิดอื่นที่ไม่ถูกแบน มีการนำเข้ามากผิดปกติเช่นกัน เมื่อวานนี้ (6 มิ.ย.) เราพูดถึงกลูโฟซิเนตแอมโมเนียม ยาฆ่าหญ้าอีกชนิดที่มีปริมาณนำเข้า 2 ปีหลังมากผิดปกติ หลังมีกระแสแบนพาราควอต จนราคาถูกลงอย่างเห็นได้ชัด
ไทยพีบีเอส พบว่ามีสารเคมีอีกชนิดหนึ่งที่ปริมาณนำเข้าสูงกว่าปกติใน 2 ปีที่ผ่านมาเช่นกัน ปีที่แล้วนำเข้า 14,000 ตัน มากเป็นอันดับ 2 ของสารเคมีเกษตร แทนที่พาราควอต ยิ่งไปกว่านั้น ราคาเฉลี่ยนำเข้าที่เคยสูงประมาณกิโลกรัมละ 190 บาท ลดลงมาเหลือเพียง 30 กว่าบาท เพราะมีการนำเข้ามากจากมาเลเซียที่ราคากิโลกรัมละไม่ถึง 10 บาท ซึ่งข้อมูลนี้ได้มาจากกรมวิชาการเกษตร
คาดนำเข้า "ไดยูรอน" มากขึ้น เหตุใช้ควบคุมวัชพืช
นายรัตนศักดิ์ พินิจเมือง นักวิชาการด้านเคมีเกษตร เปิดเผยว่า "พาราควอต" ฉีดไปที่หญ้า จะทำให้ใบเหี่ยวเหมือนเผาไหม้ เพราะทำลายระบบสังเคราะห์แสงของใบหญ้า แต่ "ไดยูรอน" ใช้ราดคลุมดิน ป้องกันวัชพืชงอกโผล่ขึ้นมาเหนือดิน ใช้ได้บางพืช บางครั้งใช้ผสมกับกับพาราควอต การนำเข้าไดยูรอนมากขึ้น สันนิษฐานว่าส่วนหนึ่งเกิดจากเกษตรกรหันไปใช้วิธีควบคุมวัชพืชมากขึ้น รองรับกับการแบนพาราควอต ส่วนอีกข้อสันนิษฐานหนึ่ง คือมีการนำเข้าสารอื่น แต่สำแดงข้อมูลว่าเป็นไดยูรอน เรื่องนี้ต้องมีการตรวจสอบอีกครั้ง
การยกเลิกใช้สารเคมีเป็นประเด็นที่ได้รับแรงสนับสนุน เพื่อคุ้มครองสุขภาพผู้บริโภคและเกษตรกร แต่นโยบายแบนสารเคมีแบบไม่บริหารจัดการ สนับสนุนเกษตรกรให้เลิกใช้อย่างจริงจัง ทำให้การทำเกษตรขณะนี้อยู่ในภาวะไม่ปกติ แบนสารเคมีนี้เพื่อเจอสารเคมีอีกชนิด แบนสารเคมีเพื่อใช้สารชีวภัณฑ์ที่มีสารเคมีชนิดเดิมปนอยู่ แต่ฝ่ายการเมืองยืนยันมีทางเลือกให้เกษตรกรอยู่แล้ว
คกก.วัตถุอันตรายเตรียมประชุมหาทางออก ก.ค.นี้
เมื่อผู้เกี่ยวข้องปฏิเสธให้ข้อมูลทางเลือกเกษตรกร เพื่อไม่ให้ถูกครหาว่ามีผลประโยชน์จากนโยบาย แต่ฝ่ายผู้ได้รับผลกระทบกำลังถามหาความรับผิดชอบ นอกจากสั่งแบนอย่างเดียว ล่าสุด ฝ่ายรัฐเปิดเผยแล้วว่าต้องรอการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายเดือน ก.ค.2563 ที่จะมีข้อเสนอทางออกจากฝ่ายเกี่ยวข้องออกมา
แต่ยังมีคำถามว่าบริบทอื่นผลักดันการยกเลิกใช้สารเคมี เหตุใดไม่สนใจจะดำเนินการ อย่างการเก็บภาษีและอากรนำเข้าสารเคมีจากต่างประเทศ ที่ไม่เคยทำมาก่อน เพื่อจะนำเงินชดเชยผลกระทบที่เกิดขึ้นกับคนในประเทศ ในช่วงที่ประเทศต้องการรายได้ภาษีอย่างมากในตอนนี้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
The Exit : เกษตรกรปรับตัวหลังแบนสารเคมีเกษตร