จากกรณีองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ขอความร่วมมือผู้ใช้บริการรถโดยสาร สแกนคิวอาร์โค้ด (QR Code) แอปพลิเคชันไทยชนะ เช็กอินเมื่อขึ้นใช้บริการและเช็กเอาท์ก่อนลงจากรถโดยสารทุกครั้ง เพื่อไว้ใช้ในการสืบสวนโรค COVID-19 นั้น
ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส ลงพื้นที่สำรวจอู่บางเขน พบว่า ทันทีที่รถเมล์มาถึงจุดหมายปลายทาง พนักงาน ขสมก.เร่งทำความสะอาดเบาะที่นั่ง ราวจับ และพื้นผิวสัมผัสต่าง ๆ รวมถึงตรวจวัดค่าควันดำให้อยู่ในระดับมาตรฐาน ก่อนออกให้บริการ
ตลอดเวลาที่ให้บริการกระเป๋ารถเมล์ต้องคอยบอกให้ผู้โดยสารสแกนคิวอาร์โค้ดไทยชนะ ซึ่งติดอยู่บริเวณหลังเบาะที่นั่งกระจกด้านข้างภายในรถโดยสาร และบริเวณจุดขึ้นลงรถ เพื่อเช็คอิน
ขณะที่การสแกนบางจุดต้องสแกนหลายครั้ง เนื่องจากเป็นกระดาษหากโดนฝนหรือการเช็ดทำความสะอาดก็จะทำให้ตัวคิวอาร์โค้ดบนกระดาษไม่ชัดเจน
ผู้โดยสารบางคน บอกว่ายินดีให้ความร่วมมือในการสแกนคิวอาร์โค้ดแม้จะไม่สะดวกในช่วงที่ขึ้นลงรถ แต่ผู้โดยสารที่ไม่ได้สแกนคิวอาร์โค้ดไทยชนะ พบว่าส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ หลายคนบอกว่าไม่สะดวกหากต้องสแกนและบางคนไม่มีโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟน
พนักงานเก็บค่าโดยสาร ยอมรับว่าทำได้เพียงแนะนำผู้โดยสารไม่ได้บังคับแต่หากผู้โดยสารที่ไม่มีโทรศัพท์แบบสมาร์ทโฟนและไม่มีบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์หรือบัตรโดยสารล่วงหน้าอิเล็กทรอนิกส์ ก็ยังใช้บริการรถโดยสารของ ขสมก.ได้ตามปกติ
ขณะที่ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ระบุว่า การสแกนคิวอาร์โค้ดไทยชนะเพื่อเก็บข้อมูลการเดินทางของผู้โดยสารหากตรวจพบผู้ติดเชื้อจะสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ทันทีว่าผู้ติดเชื้อคนดังกล่าวใช้บริการรถโดยสารคันใด และใช้บริการในเวลาใด
ไม่บังคับสแกน คิวอาร์โค้ด
ขณะที่ นายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการ ขสมก.กล่าวยืนยันว่า กรณี สแกนคิวอาร์โค้ด (QR Code) แอปพลิเคชันไทยชนะ ไม่บังคับให้ผู้ใช้บริการรถเมล์ต้องสแกนคิวอาร์โค้ดไทยชนะ แต่ขอความร่วมมือเท่านั้น เช่น ผู้ไม่มีโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟน หรือไม่มีอินเทอร์เน็ต ไม่ได้บังคับให้ลงชื่อ หรือเบอร์โทรศัพท์ติดต่อ เนื่องจากเข้าใจปัญหาและความไม่สะดวก หากต้องดำเนินการระหว่างขึ้นลงจากรถโดยสาร ดังนั้น หากผู้ใช้บริการรถเมล์ไม่สะดวกจึงไม่ต้องสแกนคิวอาร์โค้ดไทยชนะ
ขอความร่วมมือผู้ใช้บริการปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) อย่างเคร่งครัด ได้แก่ การสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งขณะใช้บริการรถเมล์ การนั่งและยืนตามจุดที่กำหนด
รถเมล์ 1 คัน อนุญาตให้ผู้ใช้บริการยืนได้ไม่เกิน 10 คน กรณีผู้ใช้บริการเต็มต้องรอใช้บริการรถเมล์คันถัดไป เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19
สำหรับผู้ใช้บริการถเมล์ที่ถือบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์แบบรายเที่ยว,บัตรโดยสารล่วงหน้าอิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภท และบัตรโดยสารนักเรียน นักศึกษาอิเล็กทรอนิกส์ ที่ลงทะเบียนเรียบร้อยแล้วสามารถเช็คอินแอปพลิเคชันไทยชนะผ่านการชำระค่าโดยสารแบบไร้เงินสด บนเครื่องรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (EDC) ของพนักงานเก็บค่าโดยสารได้ทันที ไม่ต้องใช้โทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟนเพื่อสแกนคิวอาร์โค้ดไทยชนะ ซึ่งถือเป็นการอำนวยความสะดวกมากขึ้นกับผู้ใช้บริการ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ผู้โดยสารบางส่วนติดขัดสแกน "ไทยชนะ" บนรถเมล์