วันนี้ (4 ส.ค.2563) นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจของไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว เมื่อเดือน เม.ย.-พ.ค.2563 ซึ่งประเทศส่วนใหญ่มีการล็อกดาวน์ไปแล้ว ขณะที่ราคาทองคำมีการทำสถิติราคาสูงสุดเป็นประวัติการณ์ หลังจากสหรัฐฯ มีการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ หลังจากเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ประเทศไทยถือว่าได้รับผลกระทบมาก เนื่องจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) มีการพึ่งพาภาคการท่องเที่ยว คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 12% ของจีดีพี ขณะที่อุปสงค์ของสินค้าและบริการหายไป รายได้หายไป สินค้าคงทน การบริโภคติดลบ ส่วนบัตรเครดิต พบว่ามีการใช้งานผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น
สำหรับโรงแรมราคาประหยัด คาดว่าจะฟื้นตัวได้เร็ว ส่วนโรงแรม ระดับ 4-5 ดาว จะฟื้นตัวได้ช้า หลังจากประเทศไทยมีการคลายล็อกดาวน์เปิดให้ท่องเที่ยวในประเทศ พบว่าประชาชนนิยมไปท่องเที่ยวในสถานที่ใกล้กรุงเทพฯ อย่างพัทยา และหัวหิน อัตราเข้าพักโรงแรมอยู่ที่ 20% ส่วนในจังหวัดที่มีระยะทางไกลจากกรุงเทพฯ ยังไม่ค่อยมีประชาชนไปท่องเที่ยว
การใช้จ่ายซบเซาก่อนโควิด
อย่างไรก็ตาม คาดว่าภาวะเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวเร็วสุดในไตรมาส 3 ของปี 2564 หลังจากมีวัคซีนโควิด-19 แล้ว ส่วนการใช้จ่ายซบเซาตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 แล้ว หนี้สินภาคครัวเรือนเกิดปัญหาอยู่แล้ว พบว่าประชาชนมีเงินออมเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายไม่เกิน 3 เดือน และประชาชนประมาณ 60% มีเงินออมไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย ส่วนการจ้างงาน ชั่วโมงทำงานลดลง ค่าแรงลดใกล้ 0%
นายยรรยง ไทยเจริญ
ขณะที่อัตราการว่างงานของแรงงานภายใต้ระบบประกันสังคม ติดลบ 3% สูงสุดนับตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งเซกเตอร์ที่มีการจ้างงาน และตำแหน่งงานที่ประกาศรับสมัครลดลง ได้แก่ รถยนต์ ท่องเที่ยว เครื่องประดับ และส่งผลกระทบรุนแรงในภาคการท่องเที่ยวอย่างโรงแรม ภัตตาคาร เป็นต้น
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง โดยภาคเกษตร และผลผลิตลดลงอย่างข้าว อ้อย และสถาบันการเงินมีการปล่อยสินเชื่อยากขึ้น ทำให้การใช้จ่ายฟื้นตัวช้า แนะจับตาคณะรัฐมนตรีชุดใหม่อาจจะออกมาตรการใหม่มารองรับเศรษฐกิจซบเซา ส่วนการเปิดกิจการใหม่ จะพบว่ามีน้อยลง ขณะที่การปิดกิจการเพิ่มมากขึ้น หากวิกฤตโควิด-19 ลากยาว หลายเซกเตอร์จะใช้เวลาในการฟื้นตัวมากกว่า 2 ปี อย่างเช่น โรงแรม อสังหาริมทรัพย์ และรถยนต์ เป็นต้น แต่คงต้องรอหลังจากมีวัคซีนแล้ว
ชี้ดอกเบี้ยนโยบายคงเดิม
นายยรรยง กล่าวว่า ในส่วนนโยบายการเงิน มองว่า กนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.5% ไม่น่าจะปรับลดดอกเบี้ยลงอีก เพราะเกิดประโยชน์ไม่มาก เมื่อเทียบกับความเสี่ยง ส่วนแนวโน้มค่าเงินบาทคาดว่าจะเคลื่อนไหวระหว่าง 30.5-31.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนจีดีพีคาดว่าจะติดลบ 7.3% กว่าเศรษฐกิจจะกลับมาเติบโตเท่าเดิมต้องรอปี 2565 ดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับต่ำไปอีกนาน
วิกฤตโควิด-19 รุนแรงสุด
ด้านนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า วิกฤตโควิด-19 ถือว่าเป็นสิ่งทุกคนไม่เคยเจอมาก่อน วิกฤตที่ผ่านมา อย่างโรคซาร์ส โรคเมอร์ส ชุมนุมการเมือง และเหตุการณ์สึนามิ ซึ่งจะใช้เวลาฟื้นตัวน้อยกว่า อย่างโรคซาร์สใช้เวลาประมาณ 4-5 เดือน วิกฤตโควิด-19 ถือว่ารุนแรงที่สุด เพราะกระทบการเดินทาง การเคลี่อนย้ายคน และการอยู่ร่วมกันของคนจำนวนมาก ทำให้การท่องเที่ยวหายไปเลย อัตราเข้าพักโรงแรมอยู่ที่เพียง 0-5%
นายยุทธศักดิ์ สุภสร (เสื้อฟ้า)
สถานการณ์ท่องเที่ยวในไตรมาส 1 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 6.75 ล้านคน และนักท่องเที่ยวชาวไทย อยู่ที่ 30-40 ล้านคน หลังจากเดือน เม.ย. มีการปิดน่านฟ้า หลังจากนั้น ตัวเลขนักท่องเที่ยวแทบจะเป็นศูนย์ และเป็นตัวแอล ซึ่งต้องมีการประเมินใหม่ ขณะที่ทั่วโลกได้รับผลกระทบไม่แตกต่างจากประเทศไทย โดยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้จะอยู่ที่ติดลบ 5.8-7.8 ซึ่งการเดินทางทั้งโลก ธุรกิจสายการบินและโรงแรมมีปัญหาทั้งไทยและทั่วโลก
สำหรับการท่องเที่ยว เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยมากถึง 30% โดยประเมินว่ารายได้จากการท่องเที่ยวในปีนี้น่าจะอยู่ที่ 7 แสนล้านบาท ลดลง 80% เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่มีรายได้จากการท่องเที่ยว 2.2 ล้านล้านบาท
คนไม่อยากออกเดินทาง
ทั้งนี้ ในไตรมาส 3 คาดว่าจะเป็นการฟื้นตัวจากท่องเที่ยวในประเทศก่อน ส่วนในไตรมาส 4 จึงค่อยเป็นแนวทางของการเปิดประเทศมากขึ้น สำหรับในปี 2564 จะประเมินสถานการณ์โรคโควิด-19 จากการแพร่ระบาดในประเทศไทย และต่างประเทศ รวมทั้งความพร้อมของผู้ประกอบการ ทั้งนี้ มองว่าภาวะเศรษฐกิจโลกยังไม่สดใส การท่องเที่ยวยังไม่กลับมา ทำให้เครื่องขับเคลื่อนประเทศมีปัญหา และต้นทุนการเดินทางจะสูงขึ้น เนื่องจากมีการจำกัดจำนวน และนักท่องเที่ยวคิดมากขึ้น ทำให้ไม่อยากออกเดินทาง
ส่วนการจำกัดจำนวนคน และการรักษาระยะห่างทางสังคม ทำให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากอีโคโนมีออฟสเกลได้ และคนไทยยังไม่อยากให้คนต่างชาติเข้ามาในท่องเที่ยว ซึ่งโรงแรมที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่เปิดให้บริการในช่วงที่ผ่านมา แต่อาจจะกลับมาเปิดให้บริการได้ในเดือน ส.ค.-ต.ค.นี้ ซึ่งจะกระตุ้นการท่องเที่ยวให้เพิ่มเป็น 28-30% ภายในปีนี้ เนื่องจากแรงงานอยู่ในภาคธุรกิจท่องเที่ยวมีมากถึง 4 ล้านคน หากไม่ทำอะไรเลยอาจส่งผลกระทบได้
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โควิด-19 ทำให้ธรรมชาติกลับมาฟื้นฟู และความมีประสิทธิภาพของคนไทยในการรับมือกับโรคโควิด-19 ทำให้การแพร่ระบาดค่อนข้างน้อย ซึ่งจะชูจุดขายนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ความปลอดภัย ความคุ้นเคยอาหาร วัฒนธรรมสวยงาม ผู้คน และสิ่งแวดล้อม ซึ่งที่ผ่านมา กรุงเทพฯ ยังเป็นจุดหมายอันดับ 1 จากการค้นหาข้อมูลของนักท่องเที่ยวต่างชาติ
ดึงคนไทยเที่ยวในประเทศ
ทั้งนี้ คาดว่านักท่องเที่ยวในปี 2564 จะปรับเพิ่มขึ้น 50% ของปี 2562 ซึ่งจะดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มไทยเที่ยวนอก ซึ่งมีอยู่ประมาณ 12-13 ล้านคน และใช้จ่ายประมาณ 4 แสนล้านบาท มาชดเชยรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ และการประชุมสัมมนาจากหน่วยงานภาครัฐ และหวังว่าโควิด-19 จะช่วยให้ผู้ประกอบการและอุตสาหกรรมท่องเที่ยวปรับตัวไปสู่ความยั่งยืน
ส่วนการท่องเที่ยวเมืองรอง นักท่องเที่ยวต่างชาติจะมาท่องเที่ยวน้อยกว่าเมืองหลัก ซึ่งเมืองรองยังคงมีธรรมชาติสวยงาม จึงต้องการให้นักท่องเที่ยวไปท่องเที่ยวเมืองรองมากขึ้น และยังเป็นการลดความเหลื่อมล้ำด้วย เมืองหลัก 22 เมือง มีจำนวนนักท่องเที่ยวสูงถึง 70% ส่วนเมืองรอง 55 เมือง มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพียง 30% เท่านั้น และหากเป็นรายได้ยิ่งแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดเจน เมืองหลักมีรายได้จากการท่องเที่ยวสูงถึง 90% แต่เมืองรองมีรายได้ท่องเที่ยวเพียง 10%
สาเหตุที่ยังคงเน้นให้นักท่องเที่ยวชาวไทยท่องเที่ยวเมืองรองก่อน เนื่องจากยังมีความไม่พร้อมทางด้านระบบสาธารณูปโภคต่างๆ แต่บางสถานที่ท่องเที่ยวดังอย่าง ปาย จ.แม่ฮ่องสอน พบว่านักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มก่อน จนเป็นกระแสให้คนไทยหันมาท่องเที่ยว ส่วนสถานที่ท่องเที่ยวในเมืองรองล่าสุดที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก คือถ้ำพญานาค จ.บึงกาฬ
"ทราเวล บับเบิล" ไม่ง่าย
ส่วนมาตรการทราเวล บับเบิล ซึ่งเป็นการจับคู่ระหว่างเมืองหรือประเทศที่มีความเสี่ยงจากโควิด-19 ต่ำ ซึ่งนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์เป็นคนริ่เริ่ม แต่นิวซีแลนด์กลับเกิดโควิด-19 ระบาด ระลอก 2 ทำให้แนวคิดนี้ไม่ได้ถูกนำมาใช้ ซึ่งทางปฏิบัติแล้วไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องมีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ก่อนเดินทาง 72 ชั่วโมง ซื้อประกัน และกักตัวเป็นเวลา 14 วัน หากนักท่องเที่ยวที่มีเวลาน้อยอาจไม่สะดวก และการกำหนดจุดให้ท่องเที่ยวจะเป็นเรื่องยากเช่นกัน เบื้องต้น อาจจะเป็นเกาะ ให้นักท่องเที่ยวไปพักอยู่ 1 เดือน ซึ่งจะควบคุมได้ง่าย แต่อย่างไรก็ตาม จะไม่เอาคนไทยไปเสี่ยงด้วย