“บ้านหลุยส์ ที. เลียวโนเวนส์” บ้านครึ่งปูนครึ่งไม้สองชั้น เพชรเม็ดงามแห่งบ้านเก่าเมืองลำปางที่สะท้อนเสน่ห์งานประณีตศิลป์ บอกเล่าเรื่องราวยุครุ่งเรืองสัมปทานป่าไม้
เจ้าของเดิม คือ มร.หลุยส์ ที. เลียวโนเวนส์ นายห้างค้าไม้บุตรชายของแหม่มแอนนา เลียวโนเวนส์ พระอาจารย์ฝรั่งของบรรดาเจ้าฟ้าในพระบรมมหาราชวังในสมัยรัชกาลที่ 4
ผ่านมา 114 ปี ตัวบ้านในส่วนของไม้เริ่มผุเสื่อมชำรุดตามกาลเวลา หลังคาถูกปกคลุมด้วยผ้าใบขนาดใหญ่ ภายในมีเสาเหล็กค้ำยันโครงสร้างตัวบ้าน รอการซ่อมแซมที่ต้องหยุดชะงักลงจนกว่ากรมศิลปากรจะลงพื้นที่และได้ข้อยุติของวัสดุที่นำมาใช้
“อยากบูรณะให้เหมือนดั้งเดิมมากที่สุด” เครือข่ายลำปางรักษ์เมืองเก่า สะท้อนแนวทางซ่อมแซมบ้านโบราณอายุนับร้อยปี
นพ.โกมล ภัทรฤทธิกุล รองประธานเครือข่ายฯ เล่าว่า ก่อนหน้านี้สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดลำปาง ขอเข้าซ่อมแซมเมื่อวันที่ 24 มี.ค.2563 และเสนอใช้กระเบื้องสมัยใหม่ เพราะกังวลว่าฐานรากของบ้านไม่มั่นคง สวนทางกลับหลักฐานภาพถ่ายและคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่
เดิมหลังคาของบ้านใช้กระเบื้องดินขอ ต่อมาซ่อมแซมด้วยกระเบื้องว่าว ทางเครือข่ายฯ จึงเสนอให้ทดสอบฐานรากว่ารับน้ำหนักกระเบื้องแบบดั้งเดิมได้หรือไม่ ที่สำคัญชุมชนต้องมีส่วนร่วมเลือกแบบที่เหมาะสมทั้งภายในและภายนอกอาคาร ส่วนงบประมาณ 2.9 ล้านของจังหวัดลำปาง เสนอให้ทำหลังคาชั่วคราวระหว่างรอการซ่อมแซม หวั่นโครงสร้างเสียหายจากแดดและฝน
มีหลักฐานภาพถ่ายบ้านในอดีตและคำบอกกล่าวจากคนเฒ่าคนแก่ อย่าลดคุณค่าอาคารเก่าด้วยการใช้กระเบื้องสมัยใหม่แทนของเดิม ให้เปลี่ยนงบฯ 2.9 ล้านบาท เป็นหลังคาชั่วคราวสังกะสีก่อน
ความหวังฟื้นบ้านหลุยส์ ถูกส่งต่อถึงมือนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต้นสังกัดองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ภาคเหนือตอนบน (ออป.เหนือบน) เจ้าของบ้านในทางนิตินัย ที่ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการซ่อมแซม พร้อมรับปากเร่งประสานกรมศิลปากร รวมทั้งหาวัสดุคลุมหลังคาชั่วคราวภายในสัปดาห์นี้ และขยายเวลาปรับปรุงซ่อมแซมอีก 1 เดือน ให้แล้วเสร็จเดือน พ.ย.นี้ ยืนยันดำเนินการด้วยความความละเอียดรอบคอบและให้ชาวชุมชนเมืองเก่าท่ามะโอมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน ไม่ให้ซ้ำรอยอาคารบอมเบย์เบอร์มา จ.แพร่
แนวคิดคนรุ่นเก่าเป็นสิ่งที่มีค่า ขอบคุณชาวลำปางที่ร่วมอนุรักษ์และปกป้อง จะปรับปรุงพื้นที่โดยรอบทั้งอาคาร รถเก่า เพราะเป็นรากเหง้าประวัติศาสตร์ให้เห็นอดีตธุรกิจของเมืองลำปาง
ไม่ใช่แค่จุดท่องเที่ยวสำคัญของเมืองลำปางและชุมชนท่ามะโอ แต่ที่นี่จะเป็นศูนย์การเรียนรู้ของเยาวชน และคนที่สนใจการอนุรักษ์บ้านโบราณ
นายชนะ สัมพลัง นายกสมาคมสถาปนิกสยามฯ เรียกสถาปัตยกรรมบ้านหลุยส์ว่าโคโลเนียล เป็นการประยุกต์ตัวบ้านเข้ากับสภาพอากาศของไทย คานหรือตงของบ้านเป็นแบบโบราณที่มีความสวยงาม งานไม้ค่อนข้างมีฝีมือและละเอียดมาก สมัยนี้อาจเหลือช่างไม่กี่คนที่สามารถทำเกล็ดไม้เล็ก ๆ แบบพลิกเปิดได้ด้วย ส่วนวิธีการเข้าไม้ก็แปลกตากว่าปัจจุบันที่ใช้ตะปู อีกทั้งพื้นที่โดยรอบบ้านมีความสวยงาม ร่มรื่น เหมาะกับการพักผ่อนสันทนาการ
สมาคมฯ เข้ามามีส่วนร่วมดูแลการบูรณะอย่างถูกวิธี ยกตัวอย่างสีของอาคารต้องผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ตรวจสอบว่าอดีตใช้สีและก่อสร้างด้วยวิธีใด เพราะรายละเอียดทุกส่วนในบ้านล้วนมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์
งานไม้โบราณที่เกี่ยวกันเป็นเส้นทแยงมุมแทนชนทาบ สะท้อนความละเอียดของช่างยุคเก่า
ไม่อยากได้อาคารใหม่เอี่ยม แต่ให้คงเสน่ห์ของอดีตตั้งแต่ฐานราก หลังคา รายละเอียดไม้ กลอนประตู ดึงเสน่ห์อาคารเก่าให้คนรู้สึกหวงแหนมรดกของชาติ ไม่ใช่แค่ตึกในสวน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง โยธาฯ ลำปาง ยืนยัน "บ้านหลุยส์" ไม่ซ้ำรอยรื้อเรือนไม้ จ.แพร่