วันนี้ (12 ส.ค.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้ที่ผ่านมาการเกิดขึ้นของคลินิกชุมชนอบอุ่นจะทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องแออัดกันที่โรงพยาบาล แต่กลับมีช่องว่างทำให้เจ้าหน้าที่รู้เห็นเป็นใจกับเอกชน โกงเงินงบประมาณ สปสช.มากกว่า 100 ล้านบาท โดยคลีนิกบางแห่งเขียนข้อมูลผู้ป่วยเป็นเท็จ ผลแล็บก็ถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นเท็จเพื่อเอื้อให้เกิดการซื้อขาย ไปเพิ่มเงินเบิกจ่าย และมีความพยายามอำพรางเส้นทางการเงิน
กลายเป็นเรื่องอื้อฉาวเมื่อ สปสช.ตรวจพบการทุจริตในกลุ่มคลินิกชุมชนอบอุ่น คลินิกที่ตั้งขึ้นเพื่ออุดช่องโหว่การเข้าถึงระบบสาธารณสุขของคนมีรายได้น้อยในเมือง และลดความแออัดของโรงพยาบาล โดยให้คลินิกเป็นคู่สัญญารัฐ เบิกจ่ายงบฯ บางรายการจาก สปสช.ได้
ภารกิจอย่างหนึ่งคือ การตรวจคัดกรองโรคกลุ่มเสี่ยงเมตาบอลิก เช่น การตรวจเบาหวาน ความดัน เมื่อเข้ารับการซักประวัติ คลินิกจะเบิกได้อย่างน้อย 100 บาท และหากพบผู้ป่วยเข้าเกณฑ์กลุ่มเสี่ยงต้องเจาะเลือดตรวจแล็บ จะเบิกเพิ่มได้อีก 300 บาท โดยงบฯ ที่เบิกนั้นเป็นสิทธิตามหลักประกันสุขภาพที่เรารู้จักกันในนาม "บัตรทอง"
การทุจริตที่พบในคลินิก 88 แห่ง มี 2 ลักษณะ คือ 1.การกรอกข้อมูลเท็จ เช่น เพิ่มน้ำหนัก-ลดส่วนสูง เพื่อให้ผู้ป่วยมีมวลกายเพิ่ม ต้องตรวจแล็บ ทำให้คลินิกเบิกเงินได้สูงขึ้น และ 2.คือการใช้ใบแล็บปลอม สวมสิทธิผู้ป่วยอื่นทั้งที่ผู้ป่วยคนนั้นไม่ได้รับการตรวจจริง
ไทยพีบีเอส ได้หลักฐานสำคัญยืนยันเรื่องนี้ เช่น การปลอมข้อมูลของคลินิกบางแห่งที่จงใจกรอกข้อมูลเท็จ โดยใส่น้ำหนักผู้ป่วยมากกว่าความจริงกว่า 10 กิโลกรัม และส่วนสูงต่ำกว่าความเป็นจริง เพื่อให้ผู้ป่วยมีมวลกายสูงและอ้างว่าได้เข้ารับการตรวจแล็บ นอกจากนี้ยังพบว่าคลินิกบางแห่งใช้เอกสารที่มี "ลายเซ็น" ของผู้ป่วย ลายมือคล้ายกันหมด หรือบางแห่งก็มีลายมือคล้ายกับเจ้าหน้าที่ของคลินิก ซึ่งเจ้าหน้าที่บางคนยอมรับว่าจงใจทุจริตจริง
การทุจริตไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในส่วนของคลินิก แต่ข้อพิรุธหลายอย่างพุ่งตรงไปยังแล็บเอกชน ที่ทำหน้าที่ในการอ่านผลตรวจ ทั้งนี้ในทางปฏิบัติต้องยอมรับว่า คลินิกทั้งหมดในกรุงเทพฯ ไม่มีแล็บของตัวเอง จึงต้องส่งเลือดและข้อมูลของผู้ป่วยไปตรวจยังแล็บเหล่านี้ นี่จึงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้แล็บเอกชนเป็นคลังข้อมูลใหญ่ของผู้ป่วยบัตรทองในกรุงเทพฯ
DSI ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงตามเบาะแส พุ่งเป้าไปที่แล็บ 2 แห่งใน จ.ปทุมธานี โดยพบเอกสารที่ยืนยันว่า แล็บเหล่านี้มีการออกผลตรวจที่เป็นเท็จ ขณะที่หลักฐานชิ้นสำคัญที่ไทยพีบีเอสตรวจพบ เช่น ผลตรวจแล็บบางฉบับไม่มีการระบุชื่อคลินิกที่ส่งตรวจ ผลตรวจนี้จึงเป็นเสมือนเช็กเปล่าที่ขายให้คลินิกใช้เบิกงบฯ บัตรทอง หรือผลแล็บบางฉบับพบว่า ผลตรวจแล็บออกมาก่อนที่จะมีการคัดกรองด้วยซ้ำ เช่น ผลแล็บนี้ออกมาตั้งแต่เดือน มี.ค.2562 แต่คลินิกเพิ่งตรวจคัดกรองโรค เป็นต้น
การตรวจสอบรอบนี้จึงไม่หยุดแค่การตรวจสอบเอกสารเท็จ แต่พุ่งเป้าไปยังความสัมพันธ์ระหว่างคลินิกและแล็บ ซึ่งพบข้อน่าสงสัยในลักษณะของการอำพรางเส้นทางการเงินด้วย
เส้นทางการเงินที่มีเงื่อนงำถูกตั้งข้อสังเกตุไปยังความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของคลินิกตัวจริงและการทำหน้าที่ของแล็บ ซึ่งพบความเชื่อมโยงไปยังบุคลากรทางการแพทย์ทั้งโรงพยาบาลใหญ่ และผู้คนในแวดวงเสื้อกาวน์ เท่ากับขบวนการนี้อาจไม่ได้มีแค่ "ผู้สมรู้ร่วมคิด" ที่เป็นคลินิกและแล็บเอกชน แต่ยังมีคนในแวดวงเสื้อกาวน์เข้าไปเกี่ยวข้องหรือไม่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
THE EXIT : เปิดปากคำ "พยาน" คลินิกทุจริตงบฯ บัตรทอง (ตอน 2)