วันที่ 13 ส.ค.2563 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ ดังนี้
1.เห็นชอบแผนผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ บริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน บริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอก บริเวณฝั่งธนบุรีตรงข้ามกรุงรัตนโกสินทร์ ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร และพื้นที่ใกล้เคียงบริเวณฝั่งธนบุรีและบริเวณที่ 4 บริเวณพื้นที่ต่อเนื่องกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอก เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ
2.เห็นชอบการขยายพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์จากเดิม 3 บริเวณ (กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอก และบริเวณฝั่งธนบุรีตรงข้ามกรุงรัตนโกสินทร์) เป็น 4 บริเวณ โดยเพิ่มพื้นที่ส่วนขยาย บริเวณที่ 4 พื้นที่ต่อเนื่องบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอกตั้งแต่แนวกึ่งกลางคลองรอบกรุง (คลองบางลำพูและคลองโอ่งอ่าง) แนวกึ่งกลางแม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศเหลือและทิศใต้ และแนวคลองผดุงกรุงเกษมฝั่งตะวันออก เพื่อจะได้ปรับปรุงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า พ.ศ.2546 ต่อไป
1.บริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน เป็นพื้นที่ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง กำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง ใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภท ภายในบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน ในท้องที่แขวงพระบรมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528
2.บริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอก เป็นพื้นที่ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง กำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง ใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภท ภายในบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอก ในท้องที่แขวงชนะสงคราม แขวงตลาดยอด แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ แขวงบวรนิเวศ แขวงเสาชิงช้า แขวงราชบพิธ แขวงสำราญราษฎร์ และแขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2530
3.บริเวณฝั่งธนบุรี ตรงข้ามบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์เป็นพื้นที่ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง กำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง ใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภท ภายในบริเวณฝั่งธนบุรีตรงข้ามบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ ในท้องที่แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด แขวงอรุณอมรินทร์ แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี และแขวงสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
4.พื้นที่ใกล้เคียงบริเวณฝั่งธนบุรี คือ พื้นที่แนวกันชน (Buffer Zone) ระหว่างบริเวณฝั่งธนบุรีตรงข้ามบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์กับบริเวณพื้นที่ส่งเสริมการพัฒนาของกรุงเทพมหานครที่จะเกิดขึ้นในบริเวณโดยรอบในอนาคต
สาระสำคัญของเรื่อง
1.โดยที่ในปัจจุบันมีโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ในพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์รวมทั้งการท่องเที่ยวในบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นที่นิยมเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน การจราจร วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม
ดังนั้นกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า (คณะกรรมการฯ) ได้จัดทำแผนผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ฉบับใหม่
โดยขยายพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ จากเดิม 3 บริเวณ (กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอก และบริเวณฝั่งธนบุรีตรงข้ามกรุงรัตนโกสินทร์) เป็น 4 บริเวณ โดยเพิ่มพื้นที่ต่อเนื่องบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอก
และได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์การอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ โดยแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน คือ ยุทธศาสตร์การอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ รายสาขา จำนวน 8 สาขา และยุทธศาสตร์การอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ รายพื้นที่ จำนวน 12 พื้นที่ เพื่ออนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์
2.ผลกระทบต่อการดำเนินการของภาครัฐ แผนผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตโกสินทร์ที่ ทส. เสนอมาในครั้งนี้เป็นกรอบการดำเนินงานของภาครัฐที่มีแนวทางและรายละเอียดการดำเนินงานที่ยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนได้ภายในกรอบที่กำหนดโดยไม่ทำให้ภาพรวมเกิดความเสียหาย
โดยก่อนที่หน่วยงานจะดำเนินการ ตามโครงการภายใต้แผนผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์นั้น จะศึกษาในรายละเอียดและความเหมาะสมอีกครั้งหนึ่งก่อน
นอกจากนี้การดำเนินโครงการใด ๆ ของหน่วยงานภาครัฐที่มีการก่อสร้างภายในบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ ไม่ว่าจะเป็นโครงการที่อยู่ภายใต้แผนผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์หรือไม่ จะต้องส่งเรื่องและแบบแปลนให้คณะกรรมการฯ ผ่านทาง ทส. (สผ.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมก่อน
ทั้งนี้ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า พ.ศ.2546 ข้อ 9 และข้อ 10 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2558
สำหรับผลกระทบต่อประชาชนและภาคเอกชนนั้น แผนผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์จะไม่สามารถบังคับใช้กับประชาชนและภาคเอกชนได้ โดยหากจะมีการดำเนินการใด ๆ ซึ่งมีผลบังคับใช้ต่อประชาชนและภาคเอกชนโดยตรงนั้น หน่วยงานภาครัฐจะต้องดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนก่อน และจะต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ซึ่งในปัจจุบันสำนักวางแผนและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร อยู่ระหว่างการพิจารณาปรับปรุงกฎหมายด้านผังเมือง และการควบคุมอาคารที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถนำสาระสำคัญของแผนผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ในส่วนที่จำเป็นไปบังคับใช้กับภาคเอกชนได้
3.ในส่วนของงบประมาณ ทส. คาดการณ์ว่าการดำเนินการตามแผนผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์จะใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้น 22,022.04 ล้านบาท โดยเมื่อคณะกรรมการฯ ได้รับความเห็นชอบโครงการที่จะดำเนินงานแล้ว หน่วยงานเจ้าของโครงการโดยการสนับสนุนจากคณะกรรมการฯ จะสามารถขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี จากสำนักงบประมาณ (สงป.) ได้ต่อไป
ทั้งนี้ สงป.(สำนักงบประมาณ) ได้พิจารณาแล้วเห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมในทุกมิติ และจัดทำรายละเอียดค่าใช้จ่าย รวมทั้งจัดทำแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามขั้นตอนต่อไป
ประกอบกับกระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวัฒนธรรม สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พิจารณาแล้วเห็นชอบและไม่ขัดข้อง