ภายหลัง ศ.วิชา มหาคุณ ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา ส่งรายงานต่อนายกรัฐมนตรี และเผยแพร่รายงานต่อสื่อมวลชน พบว่ามีรายละเอียดทั้งสิ้น 7 หน้า และใช้อักษรย่อในการกล่าวถึงบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยมีรายละเอียดการตรวจสอบการทำหน้าที่ของบุคคลในแต่ละขั้นตอน ตั้งแต่การทำงานของตำรวจ อัยการ เจ้าหน้าที่ และนักการเมือง ที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้
ช่วงนี้มีการกล่าวถึงการทำงานของอัยการที่มีความเห็นไม่สั่งฟ้องคดี โดยมีสาระสำคัญในเอกสารระบุว่า "นาย น." ซึ่งรักษาราชการในตำแหน่ง รองอัยการสูงสุด (รอง อสส.) ซึ่งมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดีนายวรยุทธ "ใช้อำนาจและดุลพินิจไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเชื่อว่ามีเจตนาช่วยเหลือผู้ต้องหาไม่ให้ต้องรับโทษ"
โดยเอกสารระบุว่า พิจารณาจากกรณีที่ นาย น. สั่งให้มีการสอบปากคำพยาน เจาะจงเป็น พลอากาศโท จ. และ นาย จ. เท่านั้น ซึ่งไม่ใช่พยานใหม่ และ อสส.-รอง อสส. คนก่อนหน้าเคยพิจารณาคำให้การของพยาน 2 ปากนี้ โดยมีความเห็นว่ามีพิรุธและไม่น่าเชื่อถือ ซึ่งมีรายละเอียดตามเอกสาร หน้า 4 ดังนี้
"คณะกรรมการเห็นว่า การใช้อำนาจในการสั่งคดีร้องขอความเป็นธรรม และต่อมาการสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาในคดีอาญาของนาย น. ในฐานะรองอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการแทนอัยการสูงสุด เป็นการใช้อำนาจและดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและน่าเชื่อว่ามีเจตนาช่วยเหลือผู้ต้องหามิให้ ต้องรับโทษ เพราะเหตุของการเจาะจงให้มีการสอบเพิ่มเติมและรับฟังเฉพาะพลอากาศโท จ. และ นาย จ. ซึ่งเป็นพยานเคยถูกสอบไปแล้วในการร้องขอความเป็นธรรมหลายครั้งก่อนหน้า มิใช่พยานหลักฐานใหม่แต่อย่างใด"
"นอกจากนั้น ผู้พิจารณาการร้องขอความเป็นธรรมในแต่ละครั้งอันได้แก่ รองอัยการสูงสุดหรืออัยการสูงสุดได้เคยพิจารณ อย่างรอบคอบแล้วว่าเป็นพยานหลักฐานที่มีพิรุธและไม่น่าเชื่อถือ และนาย น. เชื่อคำพยานพลอากาศโท จ. เพียงเพราะเป็นข้าราชการระดับสูง แต่กลับไม่เชื่อเหตุผลและดุลพินิจ ของอดีตอัยการสูงสุดและรองอัยการสูงสุดที่สั่งให้ยุติการร้องขอความเป็นธรรมในทุกครั้งก่อนหน้า"
นอกจากนี้ยับพบว่าผู้ต้องหา ทนายความ และกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวกับคดีนี้ มีการใช้ "อิทธพลทางการเมือง" กดดันกระบวนการยุติธรรม โดยมีการ้องขอความเป็นธรรมไปยังกรรมาธิการใน สนช. ซึ่งประกอบด้วย ข้าราชการ ทหาร ตำรวจระดับสูง เจ้าหน้าที่รัฐในกระบวนการยุติธรรมระดับสูง โดยเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2559 "กรรมาธิการ" บางคน ได้ให้ความเห็นและอ้างพยานหลักฐานเท็จเกี่ยวกับความเร็วรถของผู้ต้องหาที่กรรมาธิการคนนั้นมีส่วนจัดทำขึ้น เพื่อสนับสนุนการ้องขอความเป็นธรรมให้กับผู้ต้องหา
ทั้งนี้ "กรรมาธิการ" คนดังกล่าว ยังเป็นประธานคณะทำงานเพื่อพิจารณาการร้องขอความเป็นธรรมนั้นครั้งนั้น และ "กรรมาธิการ" คนนี้ ยังไปเป็นพยานและให้ปากคำสนับสนุนข้ออ้างของผู้ต้องในการสอบสวนเพิ่มเติมต่อพนักงานสอบสวน แม้กรรมาธิการหลายคนจะไม่ประสงค์ให้กรรมาธิการเข้าไปก้าวก่ายการปฏิบัติหน้าที่และการใช้ดุลพินิจของเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งมีรายละเอียดในเอกสาร หน้า 3 ดังนี้
"กรรมาธิการบางคนได้ให้ความเห็นและอ้างพยานหลักฐานเท็จเกี่ยวกับความเร็วรถของผู้ต้องหาที่ตนมีส่วนจัดให้มีการจัดทำขึ้น เพื่อสนับสนุนการร้องขอความเป็นธรรมให้กับผู้ต้องหา"
"ความพยายามนี้สอดรับกับแนวทางการทำงานและผลสรุปของคณะทำงานที่จัดตั้งขึ้นโดยคณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณาการร้องขอความเป็นธรรมและมีกรรมาธิการบางคนเป็นประธานคณะทำงาน แม้ว่ากรรมาธิการหลายคนไม่ประสงค์ให คณะกรรมาธิการดำเนินการในลักษณะที่ก้าวก่ายการปฏิบัติหน้าที่และใช้ดุลพินิจของเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมก็ตาม แต่กรรมาธิการผู้นั้นได้ไปเป็นพยานและให้ปากคำสนับสนุนข้ออ้างของผู้ต้องหาในการสอบสวนเพิ่มเติม ต่อพนักงานสอบสวน เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๑ ด้วย"
เอกสารบทสรุปรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ คดี “บอส”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"วิชา" ชี้เป็น "ทฤษฎีสมคบคิด" ช่วย "บอส-วรยุทธ" หลุดคดี