วันนี้ (2 ก.ย.2563) แคมป์แรงงานข้ามชาติในเขตเทศบาลเมืองแม่เหียะ อ.เมืองเชียงใหม่ หนึ่งในเป้าหมายที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องเฝ้าระวัง และติดตามการเคลื่อนย้ายของแรงงาน หลังเกิดการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ระลอกที่ 2 ในประเทศเมียนมา

นายธนวัฒน์ ยอดใจ นายกเทศมนตรีเมืองแม่เหียะ เปิดเผยว่า ในพื้นที่มีแคมป์แรงงานข้ามชาติ 4 แห่ง มีแรงงานรวมประมาณ 300 คน ที่ผ่านมาได้ตรวจคัดกรองสุขภาพ ดูแลจัดการด้านสุขาภิบาล รวมทั้งจัดทำข้อมูลประชากร และแผนผังที่พักคนงานอย่างละเอียด

ธนวัฒน์ ยอดใจ นายกเทศมนตรีเมืองแม่เหียะ
นอกจากนี้ยังประสานผู้ดูแลแคมป์ที่พัก เพื่อคัดกรองผู้มีอาการไข้สูง รวมทั้งติดตามความเคลื่อนไหวของแรงงาน ผ่านแอปพลิเคชันไลน์เป็นประจำทุกวัน แม้ยังไม่พบความผิดปกติ แต่การระบาดของเชื้อ COVID-19 และกระแสข่าวว่ายังคงมีแรงงานข้ามชาติลักลอบข้ามแดน จึงเตรียมลงพื้นที่สุ่มตรวจ เพื่อค้นหากลุ่มเสี่ยง หากพบจะต้องกักตัวเพื่อสังเกตอาการเป็นเวลา 14 วัน

พ.ต.อ.ปกกิจ คล้ายเพ็ชร ผกก.ตม.เชียงใหม่ ย้ำให้ประชาชนปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 38 ที่กำหนดให้ เจ้าบ้าน เจ้าของบ้าน หรือ ผู้ครอบครองเคหสถาน หรือ ผู้จัดการโรงแรมซึ่งรับคนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร เป็นการชั่วคราว เข้าพักอาศัย จะต้องแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

โดยขอความร่วมมือประชาชนช่วยเป็นหูเป็นตาแก่เจ้าหน้าที่ ในการค้นหาแรงงานหน้าใหม่ที่เข้ามาในพื้นที่ ส่วนในพื้นที่ชายแดน ได้ร่วมกับทหารกองกำลังผาเมืองเพิ่มความเข้มงวดป้องกันการลักลอบข้ามแดนผ่านช่องทางธรรมชาติ

ศุกาญจน์ตา สุขไผ่ตา มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา HRDF
นางศุกาญจน์ตา สุขไผ่ตา มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา HRDF เปิดเผยว่า ปัญหาการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในเมียนมา และการลักลอบเข้าประเทศไทยของแรงงานบางส่วน ทำให้เครือข่ายแรงงานต้องเร่งทำความเข้าใจกับกลุ่มแรงงานข้ามชาติ และแกนนำ หากพบแรงงานลักลอบเข้าประเทศ ต้องแจ้งผู้นำท้องถิ่น เจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือ อสม.เข้าตรวจคัดกรอง

แต่จากการติดตามข้อมูลแรงงานในพื้นที่ ยังไม่พบแรงงานลักลอบเข้าเมือง และแคมป์ที่พักก็เข้มงวดไม่รับแรงงานรายใหม่เข้ามาพักอาศัย
ที่ผ่านมา หากมีการลักลอบเข้ามา พวกเขาจะเกรงใจกันไม่กล้าแจ้งนายจ้าง กลัวจะผิดใจกัน จึงบอกว่า ความเกรงใจต้องทำให้ถูกที่ เวลานี้ หากละเลย จะทำให้เดือดร้อนกันไปหมด และแรงงานก็จะช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
ข้อมูลของเครือข่ายแรงงานข้ามชาติ ระบุว่าในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ มีแรงงานข้ามชาติไม่ต่ำกว่า 100,000 คน ทำงานอยู่ในภาคการเกษตร ภาคบริการ และงานก่อสร้าง ส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาอยู่ในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา

โดยหลังวิกฤตโรค COVID-19 ระบาดในระลอกแรก แรงงานเหล่านี้เดินทางกลับภูมิลำเนาไม่มากนัก ขณะที่แรงงานที่ต้องการลักลอบเข้าประเทศ ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นแรงงานรายใหม่ โดยมีปัจจัยมาจากด้านเศรษฐกิจ และรายได้ รวมทั้งการถูกกดดันจากเจ้าหน้าที่รัฐของเมียนมา