วันนี้ (16 ก.ย.63) นายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส.ประชาธิปัตย์ อภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 โดยสงวนคำแปรญัตติมาตรา 4 ปรับลดลงร้อยละ 10 โดยระบุว่า ในขณะนั้นมีการคาดและประเมินสถานการณ์ในประเทศไทยทั้งภายในและภายนอกในขณะนั้นจะถูกต้องหรือไม่ โดยหลายสำนักประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะติดลบร้อยละ 10 ขณะที่ไทยยังคาดการณ์ว่าจะติดลบร้อยละ 5.5
จากรายงานของ กมธ.ยังพบว่า การประเมินสถานะทางเศรษฐกิจของไทยไม่เข้าเป้าแต่มีการอธิบายของ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ต่อกมธ.ยังค่อนข้างเป็นบวกจนมีผลต่อการประเมินรายรับและจะกระทบต่อหนี้ของประเทศ และจากการประเมิน ณ วันนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บอกว่า จะติดลบร้อยะ 8.1 ธนาคารกสิกรไทยคาดว่าจะติดลบร้อยละ 10 ซึ่งทำให้เราไม่สามารถจัดเก็บรายได้ตามเป้าหมาย
จากรายงานของ กมธ.ครั้งที่ 2 หน้าที่ 9 ซึ่งเคยตั้งเป้าว่าจะมีรายได้ 2.6 ล้านล้านบาท เก็บได้จริงอย่างเก่ง 2.37 ล้านล้านบาท หายไป 2.3 แสนล้านบาท คำถามคือที่หายไปจะเอามาจากไหน และจะมีผลอย่างไรต่อสภาพหนี้ของประเทศ ในขั้น กมธ.ปรับลดไป 1.4 หมื่นล้านบาท ขณะที่ข้อมูลจากสถาบันพระปกเกล้า ระบุว่า หากจัดสรรงบปี 64 ปีนี้ หนี้สาธารณะปีนี้จะอยู่ที่ร้อยละ 60.1 และหากทำต่อไปทุกปีในปี 71 หนี้จะสูงถึงร้อยละ 77 ซึ่งคำถามต่อ กมธ.ก็คือ ท่านดูเรื่องเหล่านี้หรือไม่ แล้วคำตอบคืออะไรสำหรับประเทศ
นายเกียรติยังกล่าวถึง เงินนอกงบประมาณที่สูงถึง 4.8 ล้านล้านบาทแต่ไม่มีรายละเอียดและมีการคืนเงินเข้าคลัง 50,000 ล้านบาท ซึ่งเงินส่วนนี้จากทั้งหมด 9 ประเภทจะนำมาใช้อะไรได้บ้างใน ขณะที่เงินกู้วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาทในการแก้วิกฤตไวรัส COVID-19 โดยเฉพาะงบฟื้นฟูวงเงิน 400,000 ล้านบาทมีโครงการเพียง 40,000 ล้านบาท ซึ่งน้อยมาก กองทุนรักษาสภาพคล่องวงเงิน 400,000 ล้านบาท ณ วันนี้ยังไม่มีลูกค้าแม้แต่รายเดียว
นายเกียรติ ยังกล่าวว่า สิ่งที่ทำได้จากนี้คือ 1.งบประมาณปี 64 ต้องผ่านสภาฯ งบลงทุนควรรีบนำมาลงทุนให้เศรษฐกิจเดินได้ แต่รัฐบาลต้องทบทวน ปัจจัย สภาพแวดล้อม เนื่องจากขณะที่จัดทำงบประมาณอาจไม่สะท้อนความเป็นจริง ซึ่งในขณะนี้หากรายได้หาย รายง่ายต้องลด ทั้งนี้ ต้องทบทวนงบโครงการฟื้นฟูวงเงิน 400,000 ล้านบาท ที่อนุมัติได้เพียง 40,000 บาทซึ่งต้องรีบแก้ไข และกองทุน 400,000 ล้านบาทเพื่อรักษาเสถียรภาพหากไม่มีการใช้นำไปแก้ให้ตรงจุด งบกลาง 600,000 ล้านบาท ปรับได้กว่า 200,000 ล้านบาทเพื่อให้ตอบโจทย์แก้ปัญหาเศรษฐกิจ สุดท้ายเงินนอกงบประมาณวงเงิน 4.8 ล้านล้านบาทควรนำเงินมาใช้ตอบโจทย์แก้วิกตประเทศ