สืบเนื่องจากกรณีที่มีผู้ใช้บัญชีเว็บไซต์พันทิป โพสต์ภาพและข้อความตั้งคำถามกับ "แบบเรียนภาษาไทย" ของโรงเรียนแห่งหนึ่ง ที่สอนให้ผู้เรียนสะกดคำตามตำแหน่งตัวอักษร
ยกตัวอย่างเช่น ปกติการสะกดคำว่า "เก" นิยมประสมคำว่า กอ - เอ อ่านว่า เก แต่แบบเรียนภาษาไทยของโรงเรียนแห่งนี้ จะประสมคำว่า เอ-กอ อ่านว่า เก โดยเป็นการสะกดคำตามตำแหน่งสระและตัวอักษร
อ่านเพิ่ม ข้อความต้นฉบับที่โพสต์ในเว็บไซต์พันทิป
ผู้โพสต์ อ้างว่า โรงเรียนชี้แจงว่าเป็นการสะกดคำเพื่อป้องกันความสับสนในการวางตำแหน่ง สระ-ตัวอักษร เช่น หากสะกดคำว่า แปด ผู้เรียนจะประสมคำด้วยการออกเสียงว่า ปอ-แอ-ดอ อ่านว่า แปด แต่อาจเขียนผิดเป็น "ปแด" ตามตัวอย่างแบบฝึกหัดที่อยู่ในภาพข้างต้น
ไทยพีบีเอส ตรวจสอบต้นตอของเอกสารดังกล่าว พบว่าเป็นแบบเรียนการอ่านภาษาไทยของโรงเรียนเอกชนที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง นอกจากนี้ยังได้สัมภาษณ์ผู้ปกครองคนหนึ่ง ที่มีลูกเรียนอยู่ในชั้นอนุบาล 2 ของโรงเรียนนี้ และมีแบบเรียนฝึกอ่านภาษาไทยที่ใช้วิธีสะกดตามวิธีดังกล่าว
ผู้ปกครองไม่กังวลสะกดคำแบบใหม่
ผู้ปกครอง ระบุว่า คาดว่าวิธีการสะกดคำแบบนี้ เป็นแบบฉบับที่โรงเรียนใช้ตั้งแต่หลายสิบปีที่แล้ว ตามคำบอกเล่าของคนที่เคยเรียน โดยโรงเรียนเชื่อว่าวิธีการนี้จะไม่ทำให้เด็กสะกดผิด และหากถามพ่อแม่ก็ไม่คิดว่าเป็นปัญหา เพราะการสะกดแบบนี้ลูกจะสะกดเฉพาะช่วงแรก โตมาก็จะสะกดคำเหมือนวิธีปกติที่เรานิยมใช้ทั่วไป
ทั้งนี้แม้แบบเรียนจะสอนให้สะกดเรียงตามตัวอักษร แต่พอลองถามลูกก็สะกดปกติ เช่น คำว่า "เก" ลูกก็สะกดว่า กอ-เอ อ่านว่า เก ไม่ได้สะกดตามลำดับ สระ-อักษร ตามที่แบบเรียนเขียนไว้
เป็นแค่บางคำที่โรงเรียนจะขอให้ผู้ปกครองสอนตามแบบเรียน แต่เด็กก็ไม่ติดกับวิธีในแบบเรียน
เมื่อถามผู้ปกครองว่ามีความกังวลหรือไม่ หากต้องย้ายโรงเรียน เพราะโรงเรียนฝึกให้สะกดคำต่างจากที่อื่น ? ผู้ปกครอง ตอบว่า หากจำเป็นต้องย้ายโรงเรียนกลางคัน เชื่อว่าไม่เป็นปัญหากับเด็ก เพราะเด็กปรับตัวได้ทุกอย่าง และตอนนี้ลูกก็ไม่ได้ติดกับวิธีสะกดแบบที่โรงเรียนสอน แต่เขาจะประสมคำตามแบบทั่วไป อย่างคำว่า เสือ เขาจะสะกดว่า สอ-เอือ อ่านว่า เสือ ไม่ได้สะกดคำตามแบบเรียน ที่สอนให้สะกดว่า เอ -สอ-อือ-ออ
ทั้งนี้ ผู้ปกครอง ระบุว่า สิ่งที่เป็นห่วงมากกว่า คือ โรงเรียนแห่งนี้ไม่มีการบันทึกภาพเคลื่อนไหวระหว่างจัดการเรียนการสอน ยิ่งลูกชายเป็นเด็กเล็กจึงเป็นห่วงมาก และที่ผ่านมาครูจะโพสต์เฉพาะภาพนิ่งในกลุ่มไลน์ผู้ปกครอง เรื่องนี้จึงทำให้ครอบครัวไม่รู้ว่าครูมีวิธีการสอนอย่างไร เช่น อาจจะสอนประสมคำแบบปกติทั่วไป เพียงแต่แบบเรียนอาจจะแตกต่างจากที่อื่น
ครูยังเสียงแตก วิธี ใหม่-เก่า "ดีกว่า"
ครูสอนภาษาไทยโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งใน จ.ขอนแก่น และเป็นติวเตอร์ให้กับโรงเรียนดังในภาคอีสาน กล่าวว่า ได้ยินปัญหานี้มา 3-4 ปีแล้ว ซึ่งครูแต่ละกลุ่มออกมาถกเถียงถึงผลสัมฤทธิ์ของเด็กว่าใช้วิธีใดแล้วผลสัมฤทธิ์จะดีกว่ากัน สำหรับวิธีการประสมคำแบบใหม่ ตั้งใจให้เด็กเข้าใจสัทอักษร เพื่อให้เด็กไม่หลงรูป (สระ อักษร และตัวสะกด) และเขียนภาษาไทยได้อย่างถูกต้อง
การสะกดคำใหม่เกิดขึ้นจากความตั้งใจให้เด็กรู้สัทอักษร ให้เด็กไม่หลงรูปและเขียนคำภาษาไทยได้ถูกต้อง
ขณะที่ครูอีกกลุ่ม เห็นว่าควรจะสอนให้เด็กรู้จักเสียงก่อน เพื่อให้เด็กรู้ที่มาที่ไปของแต่ละคำ ซึ่งแบบเดิมจะเอื้อให้เด็กเล็กเข้าใจมากกว่า ดังนั้นถามว่าการเอาแบบเรียนที่มีการสะกดคำแบบใหม่สอนเด็กจะแก้ปัญหาการเขียนผิดหรือไม่ ต้องย้อนกลับไปที่ต้นเหตุว่าเด็กเขียนผิดเพราะอะไร และเป็นเพราะการประสมคำจริงหรือไม่
สำหรับข้อเสนอแนะ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปตรวจสอบว่าโรงเรียนที่ใช้วิธีสะกดคำแบบใหม่อ้างอิงจากงานวิจัยใด และการสอนแบบใหม่ทำให้เด็กเขียนคำถูกต้องมากขึ้นหรือไม่ หรืออาจจะทำการวิจัยโดยแยกเด็กเป็น 2 กลุ่ม แล้วเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์เพื่อใช้อ้างอิงต่อไป
ครูสอนภาษาไทย กล่าวอีกว่า กระทรวงศึกษาธิการหรือราชบัณฑิตยสภา ควรออกข้อกำหนดให้ชัดเจนว่าจะให้สอนในรูปแบบใด เพราะแต่ละคนมองว่ารูปแบบการสอนแต่ละวิธีต่างมีข้อดีของตัวเอง สุดท้ายแล้วถ้ามองว่าวิธีใดดีกว่า ก็ควรจัดอบรมครูสอนภาษาไทยทั่วประเทศเพื่อให้จัดการสอนไปในทิศทางเดียวกัน