ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

THE EXIT : ปัญหาฝุ่นควันข้ามแดน

สิ่งแวดล้อม
1 พ.ย. 63
19:47
1,379
Logo Thai PBS
THE EXIT : ปัญหาฝุ่นควันข้ามแดน
ประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนเผชิญผลกระทบจากปัญหาหมอกควันและฝุ่น PM 2.5 มาหลายปี และอาจมีคำถามต่อรัฐบาลว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร เพราะที่ผ่านมาแหล่งกำเนิดฝุ่นไม่ใช่แค่ในประเทศ แต่เป็นปัญหาฝุ่นควันข้ามแดน

วันนี้ (1 พ.ย.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อ.เวียงป่าเป้า และ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย มีไร่ข้าวโพดปลูกเต็มภูเขา โดยในช่วงเดือน ก.ย. - ต.ค. คือช่วงที่เกษตรกรจะเก็บผลผลิตข้าวโพด ซึ่งข้าวโพดจำนวนมากถูกลำเลียงด้วยรถจักรยานยนต์ด้วยข้อจำกัดพื้นที่ปลูกบนดอยสูง จากนั้นเกษตรจะนำข้าวโพดที่เก็บได้มาสี เพื่อให้ได้เม็ดข้าวโพดส่งขายให้กับบริษัทที่รับซื้อ ขณะที่เศษพืชจากการผลิตข้าวโพดจะรอให้แห้งและกำจัดด้วยวิธีการเผา


ไม่เพียงแต่ในประเทศไทยที่ปลูกข้าวโพด แต่ในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา ก็ขยายพื้นที่การปลูกจำนวนมาก ซึ่งข้าวโพดกลายเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญในรัฐฉาน การนำเข้าข้าวโพดจากรัฐฉานในปีที่ผ่านมา เฉพาะที่ด่านศุลการแม่สาย จ.เชียงราย มีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านบาท

ข้อมูลงานวิจัยการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ปลูกข้าวโพด ร่องรอยพื้นที่เผาไหม้ และจุดความร้อนจากภาพดาวเทียม ระหว่าง ปี 2558-2562 ของกรีนพรีซ และจีด้า ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่าพื้นที่ปลูกข้าวโพดรายเดือนในช่วง 5 ปีย้อนหลัง พื้นที่ปลูกข้าวโพดมีแปลงขนาดใหญ่กว่า 250 ตารางเมตร ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (ตอนบน) พบมากในช่วงเดือน มี.ค. และเดือน เม.ย.

 

พื้นที่รัฐฉานของเมียนมากพบมากที่สุดในช่วงเดือน พ.ค.และเดือน เม.ย. ประมาณ 8.4 ล้านไร่ ขณะที่พื้นที่ตอนบนของประเทศไทย พบเนื้อที่ปลูกข้าวโพดมากที่สุดในช่วงเดือน เม.ย. ประมาณ 3.8 ล้านไร่ ส่วนพื้นที่ตอนบนของ สปป.ลาว พบมากที่สุดในช่วงเดือน มี.ค.และเดือน เม.ย. ประมาณ 7.2 ล้านไร่ โดยพบจุดความร้อนจากไร่ข้าวโพดในไทย ประมาณ 4,000 จุด เมียนมาประมาณ 7,000 จุด และ สปป.ลาว ประมาณ 10,000 จุด

เมื่อต้นเดือน ก.พ.2563 The Exit ลงพื้นที่ สปป.ลาว พบว่านอกจากการปลูกข้าวโพดแล้ว ยังพบการขยายพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ เช่น การปลูกอ้อย ในเขตเมืองสิงห์ แขวงหลวงน้ำทา และพบการทำเกษตรแปลงใหญ่จากกลุ่มทุนจีนในแขวงบ่อแก้วและหลวงน้ำทา เพื่อส่งขายไปยังจีนตามเส้นทางการค้าถนนอาร์ 3 เอ ซึ่งพบร่องรอยการเผาในพื้นที่แปลงเกษตรก่อนปลูก

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 14 มี.ค.2563 สภาพท้องฟ้าของ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ที่มีพรมแดนติดกับรัฐฉาน และใกล้กับ สปป.ลาว สามารถวัดฝุ่น PM 2.5 ได้มากถึง 326 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ขณะที่การรายงานสถานการณ์ฝุ่นควันของจีสด้าภาคเหนือในวันเดียวกัน พบสาเหตุของฝุ่นควันเกิดขึ้นจำนวนมากในภาคเหนือและประเทศเพื่อนบ้าน


นายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ จ.เชียงราย เพื่อมอบนโยบายแก้ปัญหาฝุ่น หนึ่งในนั้นคือการแก้ฝุ่นควันข้ามแดน

สำหรับภาพรวมปัญหาฝุ่นควันที่เกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2563 ข้อมูลจากจีสด้าระบุว่า สถานการณ์ไฟป่าและฝุ่นควันในพื้นที่ประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง พบจุดความร้อนสูงสุด ในประเทศเมียนมา ไทย กัมพูชา ลาว และเวียดนาม ส่วนใหญ่จะเกิดจุดความร้อนสูงสุดในเดือน มี.ค. หากยังมีการเผาพื้นที่เกษตรกรรม ประกอบกับสภาพอากาศที่แห้งแล้งประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงอาจต้องเผชิญปัญหาฝุ่นควัน โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นควันข้ามแดน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง