วันนี้ (22 พ.ย.2563) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมแม่วัยรุ่นให้อยู่ต่อในระบบการศึกษา เพื่อจะได้มีโอกาสในการมีงานทำที่ดีและยืนอยู่ได้ด้วยตนเอง แม้จะมีกฎหมายคุ้มครองสิทธิ์ให้แม่วัยรุ่นได้เรียนต่อในสถานศึกษา แต่ในทางปฏิบัติก็มีหลายปัจจัยที่ทำให้ผู้เป็นแม่ต้องหยุดเรียนหรือลาออก ทั้งนี้ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รายงานสถานการณ์แม่วัยรุ่นว่า อัตราการมีบุตรของวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี ในประเทศไทยในภาพรวมลดลงจาก 51 คนต่อประชากร 1,000 คน ในปี 2558 เหลือ 23 คนต่อประชากร 1,000 คนในปี 2562
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก
อย่างไรก็ตาม ยังพบอัตราการมีบุตรของแม่วัยรุ่นมากในภาคเหนือและภาคใต้ โดยภาคเหนืออัตราการมีบุตร 42 คนต่อประชากร 1,000 คน ภาคใต้อัตราการมีบุตร 35 คนต่อประชากร 1,000 คน และอัตราการมีบุตรของแม่วัยรุ่นที่อายุต่ำกว่า 15 (แม่วัยใส) มากที่สุดคือร้อยละ 0.8 โดยแม่วัยรุ่นส่วนมากมีการศึกษาน้อย คือจบการศึกษาระดับประถมศึกษามากที่สุด 130 คนต่อประชากร 1,000 คน และจะลดลงเรื่อย ๆ ตามระดับการศึกษาของผู้หญิงที่เพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าการรักษาการคงอยู่ในระบบการศึกษามีส่วนสำคัญในการช่วยลดปัญหาดังกล่าว
รวมทั้งครัวเรือนยากจนจะมีปัญหาแม่วัยรุ่นสูงกว่าครัวเรือนรายได้สูง มากไปกว่านั้นแม่วัยรุ่นจำนวนมากหลุดออกจากระบบการศึกษามีเพียงร้อยละ 23 เท่านั้นที่กลับมาเรียนในสถานศึกษาเดิม นั่นหมายความว่า โอกาสที่จะมีงานทำและมีรายได้ที่เพียงพอน้อยมาก ทำให้ต้องอยู่ด้วยการพึ่งพิงผู้อื่น
รัฐบาลจับมือ 3 กระทรวง ดูแลแม่วัยรุ่น
น.ส.รัชดา กล่าวว่า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของรัฐบาลดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ ได้บูรณาการการทำงานเพื่อให้โอกาสเด็กและเยาวชนที่ตั้งครรภ์ในสถานศึกษาได้รับการศึกษาอย่างเหมาะสม มีการลงนามความร่วมมือในการจัดระบบการดูแล ช่วยเหลือ และคุ้มครองนักเรียนหรือนักศึกษาที่ตั้งครรภ์ ให้ได้รับการศึกษาด้วยรูปแบบที่เหมาะสมและต่อเนื่อง รวมทั้งจัดให้มีระบบการส่งต่อให้ได้รับบริการอนามัยการเจริญพันธุ์และการจัดสวัสดิการสังคมที่ดี
รัฐบาลมีความตั้งใจดูแลเด็กและเยาวชนที่ตั้งครรภ์ในวัยเรียนในเรื่องการเข้าถึงการศึกษาเพราะจะเป็นโอกาสสู่ชีวิตที่ดีขึ้น ความรู้จะเป็นประตูสู่การมีงานทำ มีรายได้ เพื่อเลี้ยงดูตนเองและลูก รัฐบาลมีความห่วงใยเยาวชนที่ต้องเผชิญกับความผิดพลาด อีกทั้งมีความเชื่อมั่นว่า หากเยาวชนได้รับโอกาส ทุกคนสามารถสร้างชีวิตใหม่ที่ดีได้ ทั้งนี้ ควบคู่ไปกับเรื่องการศึกษา รัฐบาลโดยกระทรวงพัฒนาสังคมฯ ได้ดำเนินการจัดสวัสดิการให้กับแม่วัยรุ่นที่ประสบปัญหา อาทิ การให้ความช่วยเหลือแก่วัยรุ่นที่ตั้งครรภ์และครอบครัว การฝึกอาชีพตามความสนใจและความถนัดแก่วัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ก่อนและหลังคลอด การประสานงานเพื่อจัดหางานตามความเหมาะสม จัดหาครอบครัวทดแทนในกรณีที่วัยรุ่นไม่สามารถเลี้ยงดูบุตรด้วยตนเองได้
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลตระหนักดีว่าการแก้ปัญหาแม่วัยรุ่นต้องเริ่มที่ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องเพศ ทักษะการใช้ชีวิต และเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยทั้งหมดอยู่ในหลักสูตรของกระทรวงศึกษาฯ ที่เนื้อหาปรับให้เหมาะสมกับแต่ละช่วงวัย
อัตราส่วนจำนวนแม่วัยรุ่นที่แม้จะลดลงมากในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่รัฐบาลไม่นิ่งนอนใจ ยังคงเดินหน้าแก้ปัญหาแบบครอบคลุมต่อไป