วันนี้ (1 ก.พ.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากสถานศึกษาเริ่มเปิดเรียนวันแรก หลังจากต้องหยุดการเรียนการสอนชั่่วคราวมานานกว่า 1 เดือน เนื่องจากการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ แต่หลายโรงเรียนในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล เช่น โรงเรียนไผทอุดมศึกษา โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ประกาศปิดเรียนตั้งแต่วันที่ 1-5 ก.พ.64 และจะเปิดเรียนตามปกติ ในวันที่ 8 ก.พ.นี้ โดยระหว่างนี้ให้จัดการเรียนการสอนออนไลน์ และเพื่อให้โรงเรียนเตรียมความพร้อมในการเปิดรับนักเรียนกลับมาเรียน ภายในมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดตามที่ ศบค.วางแนวทางไว้
ขณะที่โลกออนไลน์ ตั้งคำถาม และติดแฮชแท็ก #สนับสนุนเลื่อนเปิดเทอม ขึ้น เนื่องจากยังกังวลถึงสถานการณ์ COVID-19 รวมทั้งปัญหาที่เกิดจากการเรียนการสอนออนไลน์ที่พบว่าหลายครอบครัวยังมีปัญหา และนักเรียนเองไม่มีสมาธิในการเรียน
ล่าสุด กลุ่มนักเรียนเลว ออกแถลงการณ์ความเห็นของนักเรียนเลวต่อการจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์ปัจจุบัน สนับสนุนให้โรงเรียนจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสาน ให้ผู้เรียนมีสิทธิเลือกว่าจะเรียนในรูปแบบออนไลน์ หรือในห้องเรียนตามความพร้อม และความเหมาะสมของแต่ละบุคคล โดยต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของผู้เรียนเป็นสำคัญ
อ่านข่าวเพิ่ม โรงเรียนสังกัด กทม. กลับมาเปิดเรียน
"หมอเบิร์ท" แจงเหตุผลเปิดเรียน
พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าวในการแถลงสถานการณ์ COVID-19 ในประเด็นนี้ว่า การจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสาน เป็นการเรียนทางเลือกให้กับผู้ปกครองที่มีความพร้อมเรียนออนไลน์ แต่มีคำถามมากมาย เช่น บางพื้นที่ถือว่าขาดเรียนหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ยืนยันว่าต้องมีมาตรฐาน และไม่ถือว่าเป็นการขาดเรียน
ส่วนประเด็นที่ว่าเปิดเรียนอาจจะเสี่ยงติดเชื้อ COVID-19 โดยเฉพาะใน กทม.เด็กอาจมีความเสี่ยงทั้งการเดินทางต้องขึ้นรถเมล์ รถไฟฟ้า เรือ ขณะนี้ ศบค. กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข ได้มีมาตรการป้องกันแล้ว อีกทั้งจากการรายงานของกระทรวงสาธารณสุขพบกลุ่มเด็กยังมีตัวเลขติดเชื้อไม่มาก เพราะอาจจะมาจากภูมิคุ้มกันในเด็ก พ่อแม่ต้องช่วยกันระมัดระวัง เช่น วัดอุณภูมิให้กับลูกอย่างสม่ำเสมอ ดูเรื่องอาการระบบทางเดินหายใจต่างๆ ส่วนโรงเรียนต้องคัดกรองถ้ามีไข้ต้องเแจ้งผู้ปกครองนำเด็กกลับบ้านทันทีการแพร่จะอยู่ในวงเล็ก
ข้อมูลการระบาดวิทยา ต้องทำควบคู่กับการพัฒนาของเด็ก ซึ่งกุมารแพทย์และจิตแพทย์เด็กมีรายงานชัดเจนว่า การที่เด็กล็อกดาวน์ที่บ้านและเรียนไม่เหมาะสมกับพัฒนาการ จะส่งผลเสียกับเด็กได้
นอกจากนี้ การเปิดเรียนยังต้องอยู่ภายใต้มาตาการที่เข้มงวด และต้องมีการกำหนดห้องเรียนกี่คน ครูต้องดูแลความสะอาด ปลอดภัย ต้องติดตาม และถ้ามีการผ่อนคลายมาตรการแล้ว ถ้าไม่ร่วมมือเกิดตัวเลขสูงและมีคสัสเตอร์ใหม่ในวงกว้าง ศบค.จะปรับลดมาตรการขึ้นหรือลงตามตัวเลขที่เกิดขึ้น
มาตรการผ่อนคลายเริ่มต้น แต่การควบคุมโรค การ์ดยังต้องสูงอยู่
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทุบสถิติ! "สมุทรสาคร" ติด COVID-19 ยอดสะสม 11,343 คน