วันนี้ (30 มี.ค.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์ตามแนวชายแดนเมียนมา-ไทย ว่า กลุ่มฟรี เบอร์มา เรนเจอร์ส ซึ่งเป็นองค์กรช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เปิดเผยภาพของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงจำนวนหนึ่งที่หลบอยู่ภายในถ้ำ หลังกองทัพเมียนมาเปิดฉากโจมตีทางอากาศตั้งแต่วันที่ 27 มี.ค.ที่ผ่านมา
ศูนย์ข้อมูลกะเหรี่ยง ระบุว่า มีประชาชน 2,009 คน หนีภัยความรุนแรงและหลบซ่อนตัวอยู่ในป่า หลังจากถูกไทยผลักดันให้กลับเข้าไปในเมียนมาไม่นานหลังข้ามฝั่งเข้าไปในเขตแดนของไทยก่อนหน้านี้ ขณะที่ไทยออกมาปฏิเสธกระแสข่าวดังกล่าว โดยธานี แสงรัตน์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศไทย ย้ำว่า ไทยไม่มีนโยบายผลักดันผู้หนีภัยความรุนแรงกลับประเทศ
ด้านเครือข่ายกะเหรี่ยงยุโรป ซึ่งเป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงจากหลายประเทศในยุโรป ระบุว่า การบังคับส่งตัวผู้หนีภัยความรุนแรงกลับไปในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง ถือเป็นการขัดต่อกฎหมายผู้ลี้ภัยระหว่างประเทศ
กองขยะบนถนนต่อต้านกองทัพเมียนมา
ส่วนสถานการณ์การประท้วงต่อต้านรัฐประหารในเมียนมา สื่อหลายสำนักรายงานว่า วันนี้ (30 มี.ค.) มีการรณรงค์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ให้ผู้ประท้วงนำขยะจำนวนมากออกมากองตามท้องถนนในหลายพื้นที่ของย่างกุ้ง เพื่อแสดงจุดยืนต่อต้านรัฐบาลทหารและเป็นการท้าทาย หลังจากเมื่อวานนี้ (29 มี.ค.) เจ้าหน้าที่ประกาศเสียงตามสายในย่านที่พักอาศัยบางแห่ง ร้องขอให้ประชาชนทิ้งขยะให้ถูกที่
นอกจากกลยุทธ์การประท้วงรูปแบบใหม่แล้ว ชาวเมียนมาในหลายเมืองทั่วประเทศยังคงออกมาร่วมเดินขบวนประท้วง โดยไม่หวั่นว่าจะถูกเจ้าหน้าที่ใช้กำลังปราบปราม ขณะที่ล่าสุดสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองเมียนมา เปิดเผยว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 510 คน นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร
ญี่ปุ่น-อินโดนีเซียเห็นชอบร่วมมือแก้วิกฤตเมียนมา
ขณะเดียวกันมีท่าทีจากนานาชาติต่อสถานการณ์ในเมียนมา โดย เรทโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย และปราโบโว ซูเบียนโต รัฐมนตรีกลาโหมอินโดนีเซีย เข้าหารือกับ โยชิฮิเดะ ซูงะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ในกรุงโตเกียว โดยกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ญี่ปุ่นและอินโดนีเซียเห็นชอบที่จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดในประเด็นวิกฤตที่เกิดขึ้นในเมียนมา ซึ่งผู้นำญี่ปุ่นประณามการใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มผู้ประท้วงที่มีอย่างต่อเนื่อง จนทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก
ท่าทีล่าสุดมีขึ้นหลังการหารือระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศของ 2 ประเทศ เมื่อวานนี้ (29 มี.ค.) ซึ่งญี่ปุ่นแสดงความยินดีที่สมาชิกอาเซียนพยายามแก้ไขสถานการณ์ในเมียนมา รวมถึงบทบาทความเป็นผู้นำของอินโดนีเซีย โดยญี่ปุ่นพยายามที่จะมีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูระบบประชาธิปไตยในเมียนมา รวมทั้งกดดันกองทัพ แต่ในขณะเดียวกันต้องรักษาความสัมพันธ์ไว้ด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กองกำลัง KNU บุกยึดฐานทหารเมียนมา
“เมียนมา” ข้ามสาละวินแล้วไปไหน?
ดูแลเมียนมาหนีสงคราม ให้อยู่ในพื้นที่จำกัด หวั่นกระทบป่าสาละวิน