ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

พิรุธทุจริตเงินเยียวยาลำไย จ.เชียงราย

ภูมิภาค
2 เม.ย. 64
15:43
1,411
Logo Thai PBS
พิรุธทุจริตเงินเยียวยาลำไย จ.เชียงราย
เมื่อปีที่ผ่านมา “ลำไย” ได้รับการเยียวยาจากสถานการณ์โควิด-19 ตามมติ ครม.อนุมัติโครงการช่วยเหลือเกษตรชาวสวนลำไย งบประมาณกว่า 3,400 ล้านบาท แต่การสุ่มตรวจเงินเยียวยาเฉพาะที่ จ.เชียงราย พบว่าได้รับเงินเยียวยาเกินความจริง และเสี่ยงต่อการทุจริต

กลางเดือนกุมภาพันธ์ 2564 สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำ จ.เชียงราย ลงพื้นที่สุ่มตรวจสวนลำไย ต.วาวี อ.แม่สรวย จ.เชียงราย หลังได้รับร้องเรียนจากชมรม STRONG จิตพอเพียงต้านทุจริต จ.เชียงราย ว่า

อาจเสี่ยงต่อการทุจริตเงินเยียวยา ไม่ตรงตามความจริง โดย 2 จุดแรก คือหมู่ที่ 8 ต.วาวี อ.แม่สรวย การเดินทางพื้นที่ต้องใช้รถจักรยานยนต์ และเดินเท้าเข้าพื้นที่เท่านั้น เพราะเป็นพื้นที่ภูเขาสูง

แปลงแรกเป็นของ นายทวีศักดิ์ พิไลมณีกุล เป็นแปลงไม่มีเอกสารสิทธิ์ เนื้อที่ 30 ไร่ ได้รับเงินเยียวยา 20 ไร่ เป็นเงิน 4 หมื่นบาท เมื่อคำนวนตามหลักเกณฑ์ 20 ต้นต่อไร่ ต้องมีลำไยไม่น้อยกว่า 400 ต้น

แต่จากการตรวจสอบของ ป.ป.ช.เชียงราย ตรวจนับต้นลำไยพบว่า มีต้นลำไยไม่เกิน 300 ต้น เกษตรกรจึงได้รับเงินเยียวยาเกินความเป็นจริงประมาณ 100 ต้น มูลค่าความเสียหายประมาณ 10,000 บาท

แปลงลำไย อ.แม่สรวย จ.เชียงราย

แปลงที่ 2 เป็นของนายอาโด๊ะ เปี่ยมปิติวงษา เป็นแปลงไม่มีเอกสารสิทธิ์ เนื้อที่ 10 ไร่ ได้รับเงินเยียวยาจำนวน 8 ไร่ เป็นเงิน 16,000 บาท เมื่อคำนวนตามหลักเกณฑ์ลำไย 20 ต้นต่อ 1 ไร่ ต้องมีต้นลำไยไม่น้อยกว่า 160 ต้น แต่จากการตรวจสอบประมาณการ แปลงดังกล่าวมีต้นลำไยไม่ถึง 160 ต้น

แปลงลำไยของ น.ส.แสงคำ เรือนคำ เกษตรกรหมู่ 5 ต.เวียง อ.เทิง เป็นอีกหนึ่งแปลงถูกตรวจสอบ เป็นแปลง น.ส.3 ก. เนื้อที่ 11 ไร่ 3 งาน 57 ตารางวา ได้รับเงินเยียวยาจำนวน 11 ไร่ เป็นเงิน 23,000 บาท

เมื่อคำนวนตามหลักเกณฑ์ลำไย 20 ต้นต่อ 1 ไร่ ต้องมีต้นลำไยไม่น้อยกว่า 238 ต้น แต่จากการตรวจสอบประมาณการ แปลงดังกล่าวมีต้นลำไยไม่ถึง 150 ต้น เกษตรกรจึงได้รับเงินเยียวยาเกินความเป็นจริงประมาณ 88 ต้น มูลค่าความเสียหายประมาณ 8.800 บาท

ทำสวนลำไย มากว่า 20 ปี และขึ้นทะเบียนเกษตรผู้ปลูกลำไยทุกปี บางส่วนเสียหายจากพายุพัด ไม่ทราบหลักเกณฑ์การพิจารณาช่วยเหลือ ที่ผ่านมาลำไยถูกลูกเห็บ ลมพายุพัดเสียหาย ไปขึ้นทะเบียนไม่ได้รับการชดเชย เพิ่งมาได้ปีที่ผ่านมา ตัวเองแจ้งไป 11 ไร่ ตามเนื้อที่ ปกติก็แจ้งแบบนี้ทุกปี

น.ส.แสงคำยังระบุว่า ไม่ทราบว่า การเยียวยา 1 ไร่ ต้องมีลำไย 20 ต้น มีอายุ 5 ปี ขึ้นไปไม่ทราบ หน่วยงานไม่บอกกี่ปีถึงขึ้นได้ ไม่แจ้ง ระบุเพียงใครมีสวนลำไยก็ให้ไปขึ้น ตัวเองรู้ว่าต้นลำไยเราต้นใหญ่ก็เลยนำไปขึ้น

โครงการเยียวยาเกษตรกรสวนลำไย ผู้จะเข้าร่วมโครงการ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ

1. เกษตรกรผู้ปลูกลำไยที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร
2. เกษตรกรรายใหม่ ที่ยังไม่ขึ้นทะเบียน โดยทั้งรายใหม่ และรายเก่าต้องขึ้นทะเบียนให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 กันยายน 2563 กับเกษตรอำเภอ ซึ่งสามารถลงทะเบียนได้ทั้งที่ดินมีเอกสารสิทธิ์ และไม่มีเอกสารสิทธิ์

เงื่อนไขสำคัญเกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการฯ

1. ต้นลำไยต้องให้ผลผลิตแล้ว มีอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป
2. การคำนวนต้นลำไยต่อไร่ ขอรับการเยียวยา ลำไย 20 ต้น เท่ากับ 1 ไร่

จังหวัดเชียงรายออกประกาศ เรื่อง การยื่นแบบแสดงความจำนงขอรับสิทธิ์เข้าร่วมโครงการเยียวยาเกษตรกรชาวสวนลำไย ปี 2563 ลงวันที่ 8 กันยายน 2563 เพื่อให้เกษตรกรทั้งรายเก่าและรายใหม่ลงทะเบียนให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 กันยายน 2563

นายมานพ ชัยบัวคำ ประธานชมรม STRONG จิตพอเพียงต้านทุจริต จ.เชียงราย เปิดเผยกับไทยพีบีเอส ระหว่างลงพื้นที่กับสำนักงาน ป.ป.ช.เชียงราย ประชุมคณะกรรมการระดับอำเภอและระดับตำบล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ข้อมูลว่า

เจ้าหน้าที่มีน้อย ห่วงเวลากระชั้นชิด ไม่สามารถตรวจสอบได้ ใช้แอปพลิเคชันโทรศัพท์มือถือเช็คข้อมูล การใช้โทรศัพมือถือเห็นเป็นพุ่มไม้ เป็นต้นลำไย พอลงไปจริงมีลำไย มีเงาะ ลำต้น และใบจะคล้ายกัน

 

สอดคล้องกับเกษตรกรสวนลำไยในอำเภอเทิงรายหนึ่ง ที่ให้ข้อมูลการขึ้นทะเบียนตรวจสอบสิทธิ์ ระบุว่า การยื่นช่วยเหลือเงินเยียวยา เพียงนำสมุดเกษตรกรลงทะเบียนที่ อบต. แล้ว ชาวสวนมาจับ GPS มีที่ดินจริง และให้ผู้ใหญ่บ้านเซ็นรับรอง ว่าเป็นที่ดินของเราจริง ไม่มีคนมาตรวจนับ และถามเพียงมีกี่ไร่จะประเมินกันเอง

ข้อมูลพื้นที่ปลูกลำไย ปี 2562 จังหวัดเชียงรายมีพื้นที่ปลูกลำไย 86,205 ไร่ จำนวน 12,010 ครัวเรือน

แต่ระยะเวลาเพียง 1 สัปดาห์ที่ให้เกษตรลงทะเบียนผู้ปลูกลำไยเพื่อเข้าร่วมโครงการเยียวยาฯ ข้อมูลเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2563 จังหวัดเชียงรายมีพื้นที่ปลูกลำไยจำนวน 219,137 ไร่ เพิ่มขึ้นมา 132,887 ไร่ และเกษตรกรผู้ปลูก 34,961 ครอบครัว เพิ่มขึ้น 22,951 ครัวเรือน

ประธานชมรม STRONG เชียงราย ตั้งข้อสังเกตถึงความเสี่ยงที่อาจนำไปสู่การทุจริตโครงการเยียวยาเกษตรกรสวนลำไย โดยระบุถึงข้อสังเกตการให้ผู้ปลูกพืชยืนต้นขึ้นทะเบียนทุกปี เมื่อลำไยไม่ได้รับเงินชดเชยก็ไม่อยากลงกัน

แต่พอมาปีนี้รัฐบาลบอกมีเงินชดเชยไร่ละ 2,000 บาท ก็ระดมกันไปลงกันเกิน 60 เปอร์เซ็นต์ในการลงพื้นที่ ที่สำคัญเป็นพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ สุ่มเสี่ยงต่อการทุจริตเกิดขึ้น

ถ้ามองแบบชาวบ้านเจ้าหน้าที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่ ก็มีส่วนเกี่ยวข้องในการตรวจ ในการรับรอง แต่ถามว่าเจ้าหน้าที่มีส่วนการทุจริตครั้งนี้หรือไม่ ก็คงเชื่อว่าไม่มี แต่เกิดจากการละเลย หละหลวมการตรวจสอบที่เข้มงวดก็อาจมีส่วนเกี่ยวข้อง


นายณภัทร เตโช ผอ.สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า ลงพื้นที่สุ่มตรวจพื้นที่อำเภอที่ได้รับการช่วยเหลือมากสุด 4 อำเภอ คือ อำเภอแม่สรวย เทิง พญาเม็งราย ป่าแดด พบความผิดปกติ ใน 2 ประเด็น คือประเด็นแรก ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขการเยียวยา

ผลการสุ่มตรวจพบความผิดปกติ คือไม่เป็นตามที่กำหนดที่จะมีการเยียวยา เช่น 1 ไร่ ต้นลำไยต้องมี 20 ต้น ขนาดลำไยจะต้องปลูกไม่ต่ำกว่า 5 ปี และต้องให้ผลผลิตด้วย บางแห่งไปดู ปลูกมากี่ปีไม่ทราบ แต่ต้นมีขนาดเล็กนิดเดียวซึ่งไม่น่าจะให้ผลผลิต

ยังพบบางพื้นที่ขอสนับสนุนเป็นจำนวนมาก แต่ไปตรวจแล้วไม่ถึง เช่น ขอมา 9 ไร่ ต้นลำไยต้องมี 180 ต้น พอนับในสวนเหลือประมาณ 140 ต้น เมื่อคำนวนตามหลักเกณฑ์ช่วยเหลือเกินไป 2 ไร่

นอกจากนั้นยังพบความผิดปกติ เช่น เกษตรขอรับความช่วยเหลือ 4 ไร่ แต่ปรากฎเอกสารช่วยเหลือได้รับ 5 ไร่ คือได้รับเกินมาจากขอมาเกิน 1 ไร่

 

สำนักงาน ป.ป.ช.เชียงราย ได้แจ้งให้คณะกรรมการบริหารโครงการเยียวยาเกษตรกร จังหวัดเชียงรายให้ตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้อง โดยดำเนินการตรวจสอบรายแปลงอีกครั้ง

หากพบเกษตรได้รับเงินเยียวยาเกินจริง ให้ดำเนินการเรียกเงินคืนในส่วนที่เกิด หรือหากตรวจพบการทุจริตของเจ้าพนักงานรัฐ หรือเกษตรกรเจตนาแจ้งข้อมูลเท็จให้ดำเนินการตามระเบียบและกฎหมาย

สำหรับโครงการเยียวยาเกษตรกรชาวสวนลำไย ปี 2563 เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรอัตราไร่ละ 2,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ไร่ และลำไยให้ผลผลิตแล้วตั้งแต่ 5 ปี โดยอนุมัติงบประมาณรวม 3,400 ล้านบาท โดยเชียงใหม่ได้รับงบเยียวยามากสุด 812 ล้านบาท รองลงมาคือ ลำพูน 642 ล้าน และ เชียงราย 438 ล้านบาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง