นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ส่งผลกระทบต่อภาวะการจ้างงาน แม้จะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน แต่จำนวนชั่วโมงการทำงานยังลดลง โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานอิสระนอกภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม กระทบต่อระดับรายได้และระดับหนี้ครัวเรือน ไตรมาสที่ 4 ของปี 2563 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 คิดเป็นร้อยละ 89.3 ของจีดีพี มูลค่ากว่า 14 ล้านล้านบาท ตามทิศทางเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 และยังมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น
เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ยังพบว่า คนไทยเริ่มประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน หลังยอดสินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิตเพิ่มขึ้น แต่สัดส่วนการเริ่มผิดนัดชำระหนี้ ไม่เกิน 3 เดือน หรือ sm เพิ่มขึ้น จากไตรมาสก่อนหน้า ประกอบผู้ที่มีเงินฝากในบัญชีรวมต่ำกว่า 100,000 บาท เริ่มถอนเงินออกมาใช้จ่าย และสุ่มเสี่ยงจะไปกู้เงินนอกระบบมากขึ้น จึงกังวลว่าครัวเรือนที่พึ่งเงินกู้นอกระบบ อาจส่งผลกระทบต่อการชำระเงินในระบบด้วย ซึ่งสถาบันการเงินต้องเร่งเข้าปรับโครงสร้างหนี้ ยืดหนี้ และลดดอกเบี้ย เพื่อประคองสถานการณ์ดังกล่าว