วันนี้ (4 มิ.ย.2564) ไทยพีบีเอสได้สอบถาม นายสุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ หรือ สสน. ถึงสาเหตุที่ประเทศไทยยังมีอากาศร้อนและร้อนกว่าช่วงเดือนเมษายน ได้คำตอบว่า เป็นเพราะฝนตกน้อย แม้ไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เมื่อฝนตกน้อยก็ทำให้แสงอาทิตย์ส่องผ่านลงมาบนพื้นผิวดิน ความร้อนสะสมตัวทั้งบนพื้นถนนและอาคารบ้านเรือนต่าง ๆ โดยเฉพาะในเมืองที่มีตึกสูงจำนวนมาก เช่น กรุงเทพมหานครได้รับแสงอาทิตย์เต็มที่ บวกกับกระแสลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ที่เป็นลมฤดูฝนพัดมาน้อยลง เป็นเหตุให้เดือนพฤษภาคมมาถึงต้นเดือนมิถุนายน อากาศจึงร้อนกว่าเดือนเมษายนที่เป็นฤดูร้อนมาก โดยช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าอุณหภูมิเฉลี่ยช่วงเวลากลางวันจะอยู่ที่ 39-41 องศาเซลเซียส แต่ถ้าอุณหภูมิกลางแดดหรือกลางแจ้งอาจจะสูงกว่านี้
เมื่อถามว่าสภาพอากาศตอนนี้แปรปรวนหรือไม่ ผู้อำนวยการ สสน. กล่าวว่าอาจจะเป็นเพราะทุก ๆ ปี ที่ผ่านมา พบว่าเดือนเมษายนมีอากาศร้อนมากบวกกับฝนตกน้อย แต่มาปีนี้กลับตรงกันข้าม เมื่อเอามาเปรียบเทียบกับเดือนพฤษภาคมจะรู้สึกว่าไม่เหมือนเดิมและร้อนมาก แต่ความจริงแล้วทุกประเทศทั่วโลกได้รับอิทธิพลการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศอยู่แล้ว โดยช่วงต้นปีได้รับอิทธิพลจากปรากฏการณ์ลานีญา ที่มีฝนเยอะและต่อมาปรากฏการณ์ลานีญา ค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นกลางคือ ฝนค่อย ๆ น้อยลงและมีอากาศร้อน
สิ่งที่น่าเป็นกังวลมากในตอนนี้คือ เมื่อมีประกาศเข้าสู่ฤดูฝน เกษตรกรจะเริ่มเตรียมพื้นที่เพื่อเพาะปลูก แต่ปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลัก มีน้ำเหลืออยู่แค่ 1,600 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น
สอดคล้องกับนางสาวสุกันยาณี ยะวิญชาญ รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ที่อธิบายสาเหตุที่มีอากาศร้อนในระยะนี้ เพราะฝนตกน้อย เมฆจึงไม่ค่อยมี ทำให้แสงแดดส่งลงมาได้เต็มที่ตั้งแต่เช้า รวมทั้งวันกว่า 10 ชั่วโมง ทำให้มีอากาศร้อน และตอนนี้ปรากฏการณ์เอลนีโญและลานีญาอยู่ในภาวะเป็นกลาง ฝนตกจึงตามตามปีปกติ คาดว่า ช่วงเดือน ก.ค.เป็นต้นไป บริเวณประเทศไทยจะมีฝนตกมากขึ้น
อย่างไรก็ตามช่วงวันที่ 5 ถึง 10 มิ.น.นี้ ทุกภาคของประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง ทำให้อากาศจะคลายร้อนลงไป