ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

24 เครือข่ายอนุรักษ์ ค้านเขื่อนกลางป่า "เขาสิบห้าชั้น"

สิ่งแวดล้อม
23 มิ.ย. 64
12:14
859
Logo Thai PBS
24 เครือข่ายอนุรักษ์ ค้านเขื่อนกลางป่า "เขาสิบห้าชั้น"
24 เครือข่ายอนุรักษ์ และนักวิชาการสิ่งแวดล้อม ออกแถลงการณ์ค้านอนุมัติ EHIA "อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด" จ.จันทบุรี ชี้เสียพื้นที่ป่า 7,097 ไร่ กระทบแหล่งหากินช้างป่า เสี่ยงออกนอกพื้นที่ สร้างความขัดแย้งคนกับช้าง ร้องนายกรัฐมนตรียุติโครงการ

จากกรณีที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีมติเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการกิจการ หรือการดำเนินการที่อาจมีผลต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างรุนแรง (EHIA) โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรี เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.2564

วันนี้ (23 มิ.ย.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า 21 เครือข่ายองค์กรอนุรักษ์และนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ร่วมออกแถลงการณ์คัดค้านการเห็นชอบรายงาน EHIA โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด โดยระบุว่า

ขอคัดค้านการเห็นชอบรายงาน EHIA โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ที่จะก่อสร้างในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น จำนวน 7,503 ไร่ และป่าสงวนแห่งชาติป่าขุนซ่อง จำนวน 7,097 ไร่ ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศ ดังนี้

ภาพ : สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุพืช

ภาพ : สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุพืช

ภาพ : สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุพืช

ทำลายแหล่งหากินสัตว์ป่า-ช้างออกนอกพื้นที่เพิ่ม

1. พื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น ส่วนใหญ่เป็นป่าที่ราบต่ำและเป็นที่ราบสูงในบางพื้นที่ ซึ่งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยขนาดใหญ่มักเลือกใช้พื้นที่ป่าที่ราบต่ำ ประกอบกับสังคมพืชที่เป็นป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ทุ่งหญ้า และป่าฟื้นฟูหรือป่ารุ่นสอง มีลักษณะโปร่งไม่รกทึบ และพบว่าบริเวณพื้นที่ที่จะก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนดนี้ มีพืชอาหารช้างอยู่เป็นจำนวนมาก

อีกทั้งเป็นแหล่งอาหารที่สัตว์กินพืชส่วนใหญ่มักใช้และเป็นพื้นที่ในการหากิน รวมทั้งเป็นป่าดิบแล้งที่ลุ่ม ทำให้มีความชุ่มเย็น เหมาะสำหรับเป็นที่อยู่อาศัยของช้างป่ามากกว่าบริเวณอื่น ๆ ในกลุ่มป่านี้ นอกจากนี้ยังพบสัตว์ป่าอีกหลายชนิดอาศัยอยู่ เช่น กระทิง กวาง หมูป่า

การเปลี่ยนสภาพพื้นที่ป่าให้กลายเป็นอ่างเก็บน้ำ ถือเป็นการทำลายแหล่งอาศัยของช้างป่า ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากในพื้นที่อย่างสิ้นเชิง อีกทั้งยังเพิ่มโอกาสให้ช้างป่าออกนอกพื้นที่ป่ามากขึ้นหลายเท่าตัว อาจสร้างความเสียหายให้กับประชาชนในพื้นที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ภาพ : สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุพืช

ภาพ : สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุพืช

ภาพ : สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุพืช

เสียป่าพื้นราบขนาดใหญ่-กั้นทางช้างกลับคืนป่า

2. ปัญหาสำคัญในพื้นที่ดังกล่าว คือ การที่ช้างป่าออกนอกพื้นที่ป่า กำลังได้รับการแก้ไขอย่างต่อเนื่อง ทั้งการปรับปรุงแหล่งน้ำและแหล่งอาหารด้วยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน โดยมีเป้าหมายสำคัญในการดึงช้างป่าที่ออกไปรบกวนประชาชนในพื้นที่โดยรอบให้กลับเข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่ป่าอีกครั้ง

หากต้องกลายสภาพเป็นอ่างเก็บน้ำ นอกจากจะแก้ไขปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่ตามที่ตั้งเป้าไว้ไม่ได้แล้ว ยังทำให้สูญเสียป่าพื้นราบขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพรองรับการอพยพกลับมาของช้างป่า ปิดกั้นทางเดินไม่ให้ช้างกลับคืนสู่ป่าอีกด้วย

ข้อมูลจากการสำรวจเส้นทางหากินของช้างป่า สำนักอุทยานแห่งชาติ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้นและบริเวณใกล้เคียง พบว่าช้างป่าหากินในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้นบริเวณพื้นที่โครงการสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนดนั้น เป็นช้างโขลงเดียวกันกับช้างป่าที่พบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาวฝั่งตะวันตก

ภาพ : สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุพืช

ภาพ : สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุพืช

ภาพ : สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุพืช

ห่วงช้างป่าอพยพเข้าพื้นที่ชุมชน

3. ที่ผ่านมามีบทเรียนปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างคนกับช้างหลังสร้างอ่างเก็บน้ำแล้วเสร็จ เช่น อ่างเก็บน้ำคลองประแกต อ่างเก็บน้ำคลองหางแมว และอ่างเก็บน้ำคลองพะวาใหญ่ พบว่า หลังจากอ่างเก็บน้ำเริ่มสามารถเก็บน้ำได้ ปรากฏว่ามีช้างป่าจำนวนมากเข้ามาหากิน โดยมีเส้นทางหากินที่สร้างความเสียหายให้กับชุมชนเป็นวงกว้าง

ในกรณีอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ช้างป่าที่หากินในพื้นที่น้ำท่วม มีโอกาสสูงที่จะอพยพลงมาเดินวนหากินในพื้นที่ชุมชน ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของราษฎร นี่ต่างหากที่เป็นปัญหาสำคัญที่ควรต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

ชี้เป็นพื้นที่สำคัญเชื่อมป่าอนุรักษ์

4. อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น เป็นส่วนหนึ่งของป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ภาคตะวันออก อยู่ตรงกลางระหว่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว ซึ่งเป็นแนวเชื่อมต่อระบบนิเวศที่สำคัญ corridor area และถือเป็นพื้นที่หัวใจสำคัญในการแก้ไขปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่ เป็นพื้นที่ที่คอยเชื่อมพื้นที่อนุรักษ์ทั้ง 2 แห่ง ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงสุด 2 อันดับแรก ให้เกิดการแลกเปลี่ยนพันธุกรรม การอพยพเคลื่อนย้ายถิ่นอาศัย และเพิ่มประชากรของสัตว์ป่า ซึ่งเป็นปัจจัยดึงดูดให้สัตว์ผู้ล่าเข้าใช้พื้นที่อีกด้วย

จากผลการศึกษาของสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พบว่า พื้นที่อนุรักษ์ทั้ง 3 แห่ง เป็นผืนป่าที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกมีแนวเขตเชื่อมต่อเป็นผืนเดียวกัน เหมาะสมในการเป็นแหล่งอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่าที่สำคัญในภาคตะวันออก แม้อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น มีพื้นที่ขนาดเล็กเป็นลำดับที่ 5 ของกลุ่มป่าตะวันออก แต่เป็นพื้นที่เหมาะสมสำหรับการเป็นแหล่งอาศัยและดำรงชีพของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ นอกจากนี้อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น ยังพบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่มากถึง 7 ชนิด และแต่ละชนิดถือได้ว่ามีค่าความชุกชุมค่อนข้างสูง

ภาพ : สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุพืช

ภาพ : สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุพืช

ภาพ : สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุพืช

ร้องนายกฯ ยุติ "อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด"

5.เมื่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีมติเห็นชอบรายงานฯ เท่ากับว่าเป็นใบผ่านทางให้โครงการก่อสร้างได้ รายละเอียดหลังจากนี้แค่เป็นเรื่องที่เจ้าของโครงการต้องไปดำเนินการต่อตามกระบวนการ

ดังนั้นเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ตามรายชื่อแนบท้าย จึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยุติการอนุมัติโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด เพื่อรักษาถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า โดยไม่สร้างปัญหาใหม่ที่ทำให้บ้านที่เหมาะสมของสัตว์ป่าถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิง และอาจทำให้สัตว์ป่าออกมารบกวนประชาชนในพื้นที่ได้

สำหรับรายชื่อเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ร่วมคัดค้านการเห็นชอบรายงาน EHIAโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ได้แก่ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร, มูลนิธิโลกสีเขียว, สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย, สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย, กลุ่มรักษ์เขาใหญ่, กลุ่มใบไม้, ชมรมฅนรักษ์สัตว์ป่า, กลุ่ม ฅ.ฅนทำทาง, กลุ่มเยาวชนต้นกล้า จ.นครนายก, กลุ่มรักษ์​กระทิง​เขา​ใหญ่, กลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ (siamensis), กลุ่ม​ลูก​มะปราง​ สระบุรี, พิเชฐ นุ่นโต นักวิชาการอิสระ/เครือข่ายเสียงคนเสียงช้าง, ดร.นพดล ประยงค์ นักวิชาการอิสระ, ดร.อินทนนท์ กลศาสตร์เสนี มหาวิทยาลัยมหิดล, มูลนิธิสถาบันปฏิปัน, ประชาคมเมืองอุทัยธานี, กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมพยุหะ, องค์การแพนเทอรา (Panthera) ประเทศไทย, กลุ่ม BIG TREE, กลุ่มรักษ์เขาขะเมา, มูลนิธิเพื่อนบูรพา, กลุ่มเพื่อนทับลาน, กลุ่มอนุรักษ์ช่วยเหลือสัตว์ป่า, เพจผ้าขาวม้าติ่งป่า และกลุ่มไม้ขีดไฟ

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง กังขา! บอร์ดสวล.ผ่าน EHIA อ่างเก็บน้ำกลางป่า "เขาสิบห้าชั้น" 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง