วันนี้ (24 มิ.ย.2564) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การสำรวจสถานการณ์ภาวะโภชนาการของเด็กอายุ 6-14 ปี เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา พบว่าเด็กสูงดีสมส่วน และภาวะผอม มีแนวโน้มที่ดีขึ้นร้อยละ 65.5 และมีเป้าหมายร้อยละ 66 ส่วนภาวะผอม พบร้อยละ 3.6 โดยมีเป้าหมายไม่เกินร้อยละ 5 แต่พบว่ามีภาวะเริ่มอ้วน และอ้วน เตี้ย เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 12.4
อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การส่งเสริมให้เด็กได้รับอาหารและโภชนาการที่เหมาะสม เป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโต และพัฒนาสติปัญญาได้เต็มศักยภาพ ควรจัดอาหารหมุนเวียนเป็นรายเดือน หรือรายสัปดาห์ เพื่อให้นักเรียนได้รับอาหารที่หลากหลายในสัดส่วนที่เหมาะสม
นอกจากจัดเมนูอาหารหมุนเวียน เพื่อให้นักเรียนได้กินอาหารที่หลากหลายแล้ว ปริมาณอาหารที่เด็กนักเรียนควรได้รับในมื้อกลางวันก็สำคัญเช่นกัน ซึ่งการจัดชุดอาหารกลางวันที่เหมาะสมสำหรับเด็กวัยเรียน ควรหมุนเวียน 5 วันต่อสัปดาห์ ตามมาตรฐานอาหารกลางวันสำหรับนักเรียนไทย
ข้าว-โปรตีน-นม-ผลไม้ ต้องเหมาะสมตามวัย
นพ.สุวรรณชัย ระบุว่า โดยกลุ่มข้าว-แป้ง เด็กระดับอนุบาล อายุ 3-5 ปี ควรได้รับ 1.5 ทัพพี ระดับประถมปีที่ 1-3 อายุ 6-8 ปี จำนวน 2 ทัพพี ระดับประถมปีที่ 4-6 อายุ 9-12 ปี จำนวน 3 ทัพพี
ส่วนเนื้อสัตว์ เด็กระดับอนุบาล อายุ 3-5 ปี ควรได้รับ 1.5 ช้อนกินข้าว ระดับประถมปีที่ 1-3 อายุ 6-8 ปี จำนวน 2 ช้อนกินข้าว ระดับประถมปีที่ 4-6 อายุ 9-12 ปี จำนวน 2 ช้อนกินข้าว นอกจากนี้เด็กวัยเรียนควรได้รับผัก 1 ทัพพี ผลไม้ 1 ส่วน และนม 1 แก้ว เพื่อเด็กเติบโตสมวัย
อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า หากเป็นอาหารจานเดียว เมนูที่เป็นผัดด้วยน้ำมันจะต้องจัดคู่กับผลไม้ ของหวานที่เป็นกะทิไม่ควรจัดคู่กับอาหารที่เป็นอาหารมัน เนื้อสัตว์ในปริมาณที่เพียงพอ และเป็นเนื้อย่อยง่าย สลับหมุนเวียนกัน โดยมีผักเป็นส่วนประกอบในอาหารทุกมื้อ ใช้เกลือหรือน้ำปลาผสมไอโอดีนในการปรุงอาหาร
ส่วนอาหารว่างประเภทขนมปังที่มีไส้ ควรเลือกไส้ที่มีเนื้อสัตว์ เช่น ขนมปังไส้ไก่หยอง และขนมไทย ควรเลือกขนมที่มีส่วนประกอบของถั่วต่าง ๆ เช่น ขนมถั่วแปบ ถั่วเขียวต้มน้ำตาล
เด็กวัยเรียนควรกินอาหารให้ครบทั้ง 3 มื้อ ทั้งเช้า กลางวัน เย็น แต่มื้อเช้าสำคัญที่สุด เพราะจะทำให้เด็กมีสมาธิในการเรียน และควรจัดอาหารว่าง เช้าและบ่าย เพื่อเสริมโภชนาการจากอาหารมื้อหลัก ซึ่งปริมาณสารอาหารที่เด็กควรจะได้รับในแต่ละวัน เด็กวัยเรียนอายุ 6-8 ปี ควรได้รับพลังงานวันละ 1,400 กิโลแคลอรี่ เด็กอายุ 9-12 ปี ควรได้รับพลังงานอย่างน้อย 1,700 กิโลแคลอรี่