ที่ปรึกษา ศบค. เผยไทยเข้าสู่ระลอก 4 จากไวรัสกลายพันธุ์

สังคม
6 ก.ค. 64
14:38
6,448
Logo Thai PBS
ที่ปรึกษา ศบค. เผยไทยเข้าสู่ระลอก 4 จากไวรัสกลายพันธุ์
ที่ปรึกษา ศบค. มองการแพร่ระบาดของโควิดในไทยเข้าสู่ระลอก 4 แล้ว เนื่องจากเชื้อไวรัสกลายพันธุ์เพิ่มขึ้น ตั้งเป้ามีผู้ป่วยไม่เกิน 500 - 1,000 คน

วันนี้ (6 ก.ค.2564) ศ.เกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค.กล่าวถึงการระบาดของ COVID-19 ว่า

ในช่วง 2 เดือนนี้ มีการระบาดของไวรัสกลายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) แล้ว 96 ประเทศ ขณะที่สถานการณ์ในประเทศไทยในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา สายพันธุ์ที่ระบาดในบ้านเรา 85-90 % คือ สายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) แต่เดือน มิ.ย.-ก.ค. พบสายพันธุ์เดลตาทั้งประเทศแล้ว 30 % ซึ่งถือว่าไปเร็วมาก โดยเฉพาะ กทม.และปริมณฑล ที่พบเดลตา 50 %

ทั้งนี้ สายพันธุ์อัลฟาระบาดเร็วกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม (อู่ฮั่น) 60-70 % แต่สายพันธุ์เดลตา ระบาดเร็วกว่าสายพันธุ์อัลฟา 40 % คาดว่า 1-2 เดือน ทั้งไทยและทั่วโลก จะพบสายพันธุ์เดลตาเป็นส่วนใหญ่ หรือเกือบทั้งหมด เพราะกระจายเร็วมาก

นพ.อุดม กล่าวต่อว่า สายพันธุ์เดลตา มีลักษณะพิเศษที่ทำให้ผู้ป่วยอยู่ในสภาวะออกซิเจนต่ำกว่าปกติเร็วขึ้น และปอดอักเสบเร็วขึ้น สายพันธุ์อัลฟาใช้เวลาประมาณ 7-10 วัน จึงจะพบปอดอักเสบ ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ

แต่สายพันธุ์เดลตาใช้เวลาเพียง 3-5 วัน ทำให้ความต้องการเตียงเพิ่มขึ้นมาก ถ้าปล่อยให้เหตุการณ์เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ระบบสาธารณสุขจะอยู่ไม่ได้

ยิ่งระบาดเยอะ จะกลายพันธุ์ได้เยอะ การกลายพันธุ์ทำให้มันดื้อต่อภูมิของวัคซีน ไม่ใช่วัคซีนไม่ดี นั่นเป็นเหตุผลที่เราต้องหาวัคซีนเจนเนอเรชันใหม่ ที่จะครอบคลุมการกลายพันธุ์ ซึ่งตอนนี้ยังไม่มี หลายที่กำลังพัฒนา คาดเร็วสุดอาจได้ต้นปีหน้า

นพ.อุดม กล่าวว่า ถ้าเราดูข้อมูลการใช้วัคซีนในปัจจุบัน มีข้อมูลของประเทศอังกฤษระบุว่า สายพันธุ์เดลตาทำให้ภูมิคุ้มกันในวัคซีนลดลง

วัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม สายพันธุ์เบตาทำให้มีภูมิคุ้มกันลดลง 7.5 เท่า ขณะที่สายพันธุ์เดลตา ลดลง 2.5 เท่า

วัคซีนแอสตราเซเนกา 2 เข็ม สายพันธุ์เบตาภูมิคุ้มลดลง 9 เท่า ขณะที่สายพันธุ์เดลตา ลดลง 4.3 เท่า

วัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม สายพันธุ์เดลตา ลดลง 4.9 เท่า

ตัวกระตุ้นภูมิต้านทานที่ดีที่สุด เป็นไฟเซอร์และโมเดอร์นา จะมีภูมิต้านทานขึ้นระดับพันถึงหมื่น รองลงมาเป็นแอสตราเซเนกา ระดับพันต้น ๆ ส่วนซิโนแวคจะเป็นระดับหลายร้อยปลาย ๆ

นพ.อุดมกล่าวว่า ขณะที่การป้องกันโรค วัคซีนไฟเซอร์ ป้องกันสายพันธุ์เดลตาลดลงจาก 93 % เหลือ 88 % ส่วน แอสตราเซนเนกา ป้องกันสายพันธุ์เดลตาลดลงจาก 66 % เหลือ 60 % แต่ป้องกันการเข้ารักษาในโรงพยาบาล การเจ็บป่วยรุนแรง ไฟเซอร์ป้องกันได้ 96 % แอสตราเซนเนกาป้องกันได้ 92 %

ซิโนแวก ข้อมูลน้อย เราไม่มีข้อมูลว่าป้องกันได้เท่าไร แต่ถ้าเราเทียบจากภูมิต้านทานที่เราดู เราคิดว่าป้องกันสายพันธุ์เดลตาไม่ดีแน่

วัคซีนซิโนแวก 2 เข็ม จะป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรง หรือเข้าโรงพยาบาล หรือป้องกันตายได้มากกว่า 90 % ในข้อมูลในหลายประเทศที่ใช้ซิโนแวก รวมทั้งประเทศไทยที่เราเก็บข้อมูลที่ภูเก็ต ที่เราฉีดซิโนแวกเยอะสุด

นพ.อุดมกล่าวอีกว่า การป้องกันไม่เจ็บป่วยรุนแรงจะช่วยให้ไม่ต้องไปโรงพยาบาล ขณะนี้เตียงถือว่าตึงมากในทุกระดับ สีแดงเหลือเพียง 20-30 เตียง ซึ่งสถานการณ์ตอนนี้หนักจริง ๆ ในภาวะก่อนโควิด เฉพาะกรุงเทพฯ ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ มีเตียงสีแดง รวมกันประมาณ 230 เตียง ต้องขยายเตียงเพิ่มเป็น 400 กว่าเตียง แต่แพทย์และพยาบาลยังเท่าเดิม

ตอนนี้ยังไม่มีการฉีดเข็มที่ 3 ยังไม่มีแนวทางจากองค์การอนามัยโลกว่า ต้องฉีดเข็มที่ 3 มี 2 ประเทศคือ ยูเออีกับบาห์เรน ซึ่งเข็มที่ 3 เขาฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม เพราะหาได้เพียงเท่านี้ ถ้าหากต้องการฉีดเข็มที่ 3 ขอให้ฉีดเข็มที่ 1 และ 2 ให้ครบก่อน 

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราช และจุฬาลงกรณ์ อยู่ระหว่างการทำวิจัยเรื่องวัคซีนเข็มที่ 3 ว่า วัคซีนตัวไหนที่เหมาะสม หรือดีที่สุด ซึ่งอีก 1 เดือนจึงจะทราบผล แต่ไม่แนะนำให้สลับฉีดวัคซีนระหว่างเข็ม 1 และ 2 ควรรอฟังคำแนะนำจากกระทรวงสาธารณสุขก่อน ซึ่งให้ผู้เชี่ยวชาญศึกษาและรอข้อมูลจากต่างประเทศ

บูสเตอร์โดสให้บุคลากรทางการแพทย์

ที่ปรึกษา ศบค.กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติชัดเจนว่า กลุ่มที่จะต้องได้บูสเตอร์โดสก่อนคือ บุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใช้ซิโนแวคมากที่สุด ซึ่งต้องฉีดวัคซีนแอสตราเซนกา หรือวัคซีน mRNA อย่างไฟเซอร์ จากนั้นจึงจะนำไปให้กลุ่มเสี่ยงอื่น ๆ ต่อไป

ทั้งนี้ มีข้อมูลของออกซ์ฟอร์ดที่ทำเรื่องการฉีดวัคซีนเข็ม 3 ระบุว่า ฉีดแอสตราเซเนกาครบ 2 เข็ม เว้นระยะ 6 เดือน ฉีดแอสตราเซเนกาเข็มที่ 3 พบว่ากระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ 6 เท่า ปลอดภัยและไม่มีผลข้างเคียง

เมื่อถามว่าตอนนี้เข้าสู่ระลอก 4 หรือไม่ นพ.อุดม กล่าวว่า ผมถือว่าเป็นระลอก 4 เพราะเป็นไวรัสใหม่ ไวรัสกลายพันธุ์ ซึ่งพฤติกรรมไม่เหมือนเดิม อีกทั้งคุณสมบัติสำคัญคือ มันแพร่ระบาดในชุมชน ครอบครัว และองค์กร โดยหาที่มาที่ไปไม่ได้ ซึ่งเข้ากับคำจำกัดความของระลอกใหม่

ผมจึงถือว่าเป็นระลอก 4 สำหรับคำถามว่าจะจบเมื่อไหร่ ต้องบอกว่าเรายกระดับมาตรการแล้วเป็นเซมิล็อกดาวน์ แต่ยังไม่ได้ยกระดับสูงสุด

ขณะนี้ต้องรอหลัง 14 วันไปก่อน เพื่อประเมินสถานการณ์อีกครั้ง ตั้งเป้าอยากเห็นตัวเลขไม่เกิน 500-1,000 คน แต่ตอนนี้สู้ไม่ไหว จึงอยากขอความร่วมมือทุกคน พร้อมกับการเร่งฉีดวัคซีนให้เกิน 70 % ของประชากรให้ได้

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง