ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดปม : คนหนีตาย

สังคม
6 ก.ค. 64
18:33
528
Logo Thai PBS
เปิดปม : คนหนีตาย
ติดตามโจทย์ใหญ่ของประเทศไทยว่าจะวางแนวทางปฏิบัติต่อผู้หนีภัยจากการสู้รบและผู้ลี้ภัยอย่างไร จับกุมผลักดันกลับไปสู่อันตราย หรือ ให้ที่พักพิงชั่วคราวเพื่อให้พวกเขาปลอดภัย

ข้อมูลจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ หรือ UNHCR ระบุว่า มีผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัยในเขตเมืองประมาณ 5,000 คนจาก 40 ประเทศทั่วโลก กระจายอยู่ในกรุงเทพและปริมณฑล

ประเทศไทยไม่ได้เป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 และพิธีสาร พ.ศ. 2510 อีกทั้งยังไม่มีกฎหมายที่ยอมรับการเข้ามาของผู้ขอลี้ภัย ดังนั้น ผู้ลี้ภัยต้องปฏิบัติตามกฎหมายการตรวจคนเข้าเมือง และภายใต้บริบทนี้ ผู้ลี้ภัยสามารถถูกจับกุม กักกัน และเนรเทศออกนอกประเทศได้

กระทั่งปี 2562 ไทยประกาศใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรและไม่สามารถเดินทางกลับประเทศอันเป็นภูมิลำเนาได้ พ.ศ.2562

ระเบียบฉบับนี้ เปิดให้ชาวต่างด้าว หมายถึง ผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทยและไม่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร ยื่นเรื่องขอเป็น “ผู้ได้รับความคุ้มครอง” เนื่องจากไม่สามารถหรือไม่สมัครใจกลับประเทศภูมิลำเนา เนื่องจากมีเหตุอันควรให้เชื่อว่าอาจได้รับอันตรายจากการถูกประหัตประหารเมื่อเดินทางออกจากราชอาณาจักร

 

นัยนา ธนวัฑโฒ ผู้อำนวยการองค์กร Asylum Access Thailand และเป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการร่าง SOP กล่าวว่า เป็นเวลาเกือบสองปีที่กฎหมายนี้ประกาศบังคับใช้ แต่ในทางปฏิบัติยังใช้ไม่ได้ เพราะยังไม่มีการร่างขั้นตอนการปฎิบัติงาน หรือ SOP

 

คิดว่าล่าช้า เพราะตอนที่ระเบียบประกาศออกมาก็กำหนดไว้แล้วว่าให้บังคับใช้ภายใน 180 วัน จนกระทั่งหนึ่งปีผ่านไปก็ยังไม่ได้เริ่ม คนที่ได้รับผลกระทบแน่ๆ ก็คือผู้ลี้ภัยทั้งหมด ในเมื่อ SOP ยังไม่ออกมา แทนที่เราจะสามารถผ่านกระบวนการต่างๆ (ตามที่ SOP กำหนด) แล้วใช้ชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องหวาดกลัว ไม่ต้องหลบหนี ไม่ต้องกังวลว่าจะถูกจับ ถูกเข้าห้องกักหรือถูกส่งกลับประเทศทั้งที่มีอันตรายต่อชีวิต

พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติให้ข้อมูลว่าทางกรรมการชุดใหญ่ประชุมไปแล้วสามครั้ง แต่จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้การร่าง SOP ล่าช้า ขณะนี้ได้แต่งตั้งอนุกรรมการร่าง SOP แล้ว โดยกำหนดว่าต้องร่างให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 90 วัน

 

ทราบว่าได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการร่าง SOP ขึ้นมาแล้ว โดยมี พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบเป็นประธานคณะอนุกรรมการฯ และได้นัดประชุมคณะอนุกรรมการเมื่อวันที่ 28 พ.ค.ที่ผ่านมา ในที่ประชุมระบุว่าจะร่าง SOP ให้เสร็จภายใน 90 วัน นับจากวันที่ 28 พ.ค.64 เพื่อเสนอมายังคณะกรรมการฯ ชุดใหญ่ที่มีผมเป็นประธาน เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป

นอกจากนี้ยังพบว่า สภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. ได้ให้ข้อสังเกตไว้กับคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2562 (หนังสือ นร.0907/449) ระบุว่า การจัดทำขั้นตอนการปฏิบัติงาน (SOP) ภายใต้ร่างระเบียบฉบับนี้ สามารถพิจารณากำหนดขอบเขตของ ผู้ได้รับการคุ้มครอง ไม่ให้รวมถึงกลุ่มผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมา ชาวโรฮิงญา อุยกูร์ และเกาหลีเหนือ รวมถึงผู้โยกย้ายถิ่นฐานกลุ่มอื่นๆ ที่อาจมีขึ้นลักษณะเดียวกัน ซึ่งมีปัญหาความมั่นคงที่เกี่ยวเนื่องกับปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ หรือ ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนหรือสับสนในเชิงบทบาทหน้าที่

ประเด็นนี้ ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่า SOP อาจจะออกมาตามข้อสังเกตของ สมช.

 

ด้าน พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ เปิดเผยว่า ยังไม่มีข้อสรุปว่าผู้ได้รับความคุ้มครองจะเป็นไปตามข้อสังเกตของ สมช. หรือไม่ ขณะที่ ผู้อำนวยการองค์กร Asylum Access Thailand ยืนยันว่าไม่ควรกำหนด SOP ตามข้อสังเกตของ สมช. และผู้ลี้ภัยทุกกลุ่มควรเข้าถึงสิทธิความคุ้มครองตามระเบียบฯ ฉบับดังกล่าว

 

จิราภรณ์ ศรีแจ่ม ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส รายงาน 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง