ภาพสลิปโอนเงินจากท่าทราย จ.แพร่ หลายแห่ง ระบุยอดเงิน 5,500 บาท คือ หลักฐานที่ทีมงานเปิดปมได้จากผู้รับเหมาก่อสร้างและผู้ประกอบการท่าทรายในจังหวัดแพร่บางราย โดยแหล่งข่าวที่ไม่ประสงค์ออกนาม ให้ข้อมูลว่า ก่อนวันที่ 5 ของทุกเดือน ท่าทรายอย่างน้อย 13 แห่งใน จ.แพร่ ต้องโอนเงินเข้าบัญชีของชายคนหนึ่ง ซึ่งพวกเขาคาดว่าเป็นคนรู้จักของนายอติรุจ จำรูญ ผอ.สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาแพร่
ผู้รับเหมาก่อสร้างและผู้ประกอบการท่าทราย อ้างว่า เงิน 5,500 บาทต่อเดือน เป็นค่าอำนวยความสะดวกให้ท่าทรายแต่ละแห่งสามารถดูดทรายเกินจากขอบเขตที่ขออนุญาตไว้
เมื่อสอบถามนายอติรุจ ผอ.สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาแพร่ ว่ารู้จักชายเจ้าของบัญชีปลายทางนี้หรือไม่ เขาตอบปฏิเสธ พร้อมกับระบุว่า ขณะที่ ดำรงตำแหน่ง ผอ.สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาแพร่ไม่เคยเรียกรับเงินรายเดือนจากผู้ประกอบการท่าทรายรายใด
เรื่องของการรับเงินเดือนละ 5,500 บาท ผมต้องขออนุญาตปฏิเสธแบบประชาชนทั่วไปว่าไม่ได้รับเงินจากใครทั้งสิ้น ต้องไปถามคนร้องว่าคุณไปจ่ายเงินให้ใคร และทำไมต้องจ่าย
นายอติรุจ ยังเปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ เคยถูกร้องเรียนโดยจดหมายร้องเรียนไม่ปรากฎชื่อผู้ร้อง ระบุว่าเขาเรียกรับเงินหลักแสนเพื่อแลกกับการเซ็นใบอนุญาต ทำให้นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า โทรศัพท์มาสอบถามข้อเท็จจริงด้วยตัวเอง
ท่านอธิบดีก็โทรมาว่าบอกว่า เนี่ย เขากล่าวหาว่าผมเรียกรับเงินค่าเซ็นใบอนุญาตทีละ 4-5 แสนบาท ผมเลยบอกว่า ถ้าเป็นแบบนั้นผมคงรวยไปนานแล้วครับท่าน วันนี้ยังเป็นหนี้อยู่ตั้ง 2-3 ล้านบาท มันเป็นไปไม่ได้ครับ
นี่ไม่ใช่ครั้งแรก ที่ ผอ.สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาแพร่ ถูกกล่าวหาว่าเรียกรับเงินจากผู้ประกอบกิจการท่าทรายในพื้นที่
มี.ค.2564 นายวิรัตน์ เวียงทอง เจ้าของท่าทรายแห่งหนึ่งใน จ.แพร่ ร้องเรียนไปยังศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด ว่าถูกผอ.สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาแพร่เรียกเงิน 30,000 บาท เพื่ออำนวยความสะดวกให้เขาขุดร่องน้ำยมช่วง ม.ค.- พ.ค. 2564 นอกพื้นที่ขออนุญาตขุดลอกลำน้ำสำหรับกิจการดูดทราย
ก่อนหน้านั้น มีตัวแทนชาวบ้านและอบต.น้ำชำ อ.สูงเม่น จ.แพร่ มาขอความช่วยเหลือจากนายวิรัตน์ ให้ช่วยขุดร่องน้ำเพื่อเดินเครื่องสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ของ ต.น้ำชำ ซึ่งตั้งอยู่ติดกับท่าทรายของนายวิรัตน์ ได้ส่งน้ำไปเลี้ยงพื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้านในตำบลได้ในช่วงหน้าแล้งของปีนี้
นายวิรัตน์ เล่าว่า ได้นำเรื่องนี้ไปปรึกษากับ ผอ.สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาแพร่ ว่าเขาสามารถทำได้หรือไม่ และ อบต.น้ำชำ ต้องทำหนังสือขออนุญาตมายังสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาแพร่หรือไม่ เพื่อให้รถแบคโฮท่าทรายของนายวิรัตน์ เข้าช่วยเหลือชาวบ้านได้ แต่นายอติรุจกลับบอกว่า อบต.น้ำชำ ไม่ต้องทำหนังสือขออนุญาต มายังสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาแพร่ นายวิรัตน์สามารถขุดลอกร่องน้ำยมได้ทันที เพียงจ่ายเงิน 30,000 บาท เพื่อเป็น “ค่ากับข้าวเด็ก”
นายวิรัตน์ อ้างว่า เขาจ่ายเงินสดจำนวน 30,000 บาทให้ ผอ.สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาแพร่ โดยนัดจ่ายเงินที่ร้านกาแฟแห่งหนึ่งใน อ.เมืองแพร่ เมื่อ ก.พ. 2564 แต่ 1 เดือนต่อมา กลับมีเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาแพร่ มาจับรถแบคโฮของนายวิรัตน์ที่กำลังขุดลอกร่องน้ำให้กับเครื่องสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ อบต.นำชำ ทำให้นายวิรัตน์โกรธมาก และตัดสินใจร้องเรียนไปยังศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดแพร่
นายอติรุจปฏิเสธข้อกล่าวหาของนายวิรัตน์ทั้งหมดและยืนยันว่าเขาไม่ได้เรียกรับเงินจำนวน 30,000 บาท
28 มิ.ย. 2564 นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า ลงนามคำสั่งย้าย ผอ.สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาแพร่มาช่วยปฏิบัติราชการที่ส่วนกลาง และ เตรียมตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงภายใน โดยยืนยันว่า พร้อมให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ขณะที่ คณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตให้ดูดทรายประจำจังหวัดแพร่ หรือ อพด. ยังไม่ได้เข้าตรวจสอบท่าทรายในจังหวัดว่าดูดทรายเกินจากขอบเขตที่ขออนุญาตไว้หรือไม่