ราชกิจจานุเบกษา ยกระดับล็อกดาวน์ฉบับที่ 28 -งดออกนอกเคหสถานต่อ 14 วัน

สังคม
18 ก.ค. 64
09:13
68,411
Logo Thai PBS
ราชกิจจานุเบกษา ยกระดับล็อกดาวน์ฉบับที่ 28 -งดออกนอกเคหสถานต่อ 14 วัน
ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งเผยแพร่ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 28) งดออกนอกเคหสถานเวลา 21.00-04.00 น.ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวดต่ออีก 14 วัน เริ่ม 20 ก.ค.- 2 ส.ค.นี้ ขอความร่วมมือลดการเดินทาง

วันนี้ (18 ก.ค.25640) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการ ในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 28) โดยมีรายละเอียดสำคัญดังนี้ ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.2563

และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปอย่างต่อเนื่อง เป็นระยะนั้น โดยที่สถานการณ์ระบาดของโรคติด COVID-19 ที่มีการกลายพันธุ์เป็นหลายสายพันธุ์ ยังคงทวีความรุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนเสี่ยงที่จะเกิดภาวะวิกฤติด้านสาธารณสุข

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ กทม.-ปริมณฑล รัฐบาลโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ฝ่ายต่างๆ ได้ดำเนินการอย่างเข้มแข็งและจริงจัง ในการเพิ่มศักยภาพการตรวจคัดกรอง การรักษาพยาบาล และเร่งรัดการจัดฉีดวัคซีนให้กับประชาชน แต่เมื่อได้มีการประเมินสถานการณ์ ภายหลังมีผลใช้บังคับของข้อกำหนด (ฉบับที่ 27) ลงวันที่ 10 ก.ค.2564

ปรากฏว่า ยังไม่อาจชะลออัตราการเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อ และจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเฝ้าระวังอาการ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงที่เป็นผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และกลุ่มผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจในกทม.-ปริมณฑล และภูมิภาคหลายจังหวัดที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีแนวโน้มต่อเนื่อง ซึ่งมักเป็นการติดเชื้อจากการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในครอบครัวและชุมชน

ดังนั้น จึงจำเป็นต้องยกระดับความเข้มข้นของมาตรการ และการบังคับใช้อย่างจริงจังเพิ่มเติมขึ้น จากข้อกำหนดที่ได้ประกาศไว้ก่อนหน้า เพื่อเร่งแก้ไขและบรรเทาสถานการณ์ฉุกเฉิน ให้คลี่คลายลงโดยเร็วที่สุด

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 แห่งพ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินพ.ศ. 2548 และมาตรา 11 แห่งพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 นายกรัฐมนตรี จึงออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการดังต่อไปนี้ 

ความมุ่งหมายของมาตรการและข้อปฏิบัติต่างๆ

ในข้อกําหนดฉบับนี้มุ่งหมาย เพื่อกําหนดมาตรการที่จําเป็นและต้องเร่งดําเนินการโดยด่วน เพื่อลดการออกนอกเคหสถานของประชาชน อันเป็นเหตุให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่ของโรคติดเชื้อ COVID-19 โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม.-ปริมณฑล และจังหวัดที่ได้กําหนดเป็นเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด

เนื่องจากมีจํานวน ผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น และโดยส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อโรคกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลต้าที่แพร่ระบาด ได้อย่างรวดเร็วและส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชีวิตและสุขภาพ

โดยเฉพาะบุคคลกลุ่มเสียงทั้งผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่แม้บุคคลเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วมักจะอยู่ประจําในที่พํานัก แต่ประวัติการสัมผัสเชื้อ มักเกิดขึ้นในครอบครัว โดยการติดต่อสัมผัสกับบุคคลที่ได้มีการเดินทาง

ซึ่งจากข้อมูลพบว่า การติดเชื้อและแพร่ระบาดในครอบครัว และเขตชุมชนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีอัตราเพิ่มจํานวนขึ้นสูงมาก แม้จะได้มีการเร่งฉีดวัคซีน เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่แล้วก็ตาม แต่ย่อมต้องอาศัยระยะเวลาเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ที่ไม่อาจเกิดขึ้นโดยเร็ว สิ่งที่ต้องร่วมมือกันในเวลานี้ คือ ชะลออัตราการระบาดที่รุนแรงของโรค โดยต้องหยุดยั้งการกระทําใดๆ ก็ตาม ที่เป็นความเสี่ยงหรือเป็นเหตุให้เชื้อโรคแพร่ระบาดออกไป

การปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัดตามพื้นที่สถานการณ์

กำหนดปรับปรุงเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวดขึ้นใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ได้แก่ กทม.นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา และจังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา

โดยให้ ศบค.มีคำสั่งปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัดจำแนก ตามเขตพื้นที่สถานการณ์เสียใหม่ และให้นำมาตรการควบคุมแบบบูรณาการที่กำหนดไว้ สำหรับพื้นที่ สถานการณ์ระดับต่างๆ ข้อห้าม และข้อปฏิบัติตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 24) ลงวันที่ 19 มิ.ย.2564 ข้อกำหนด (ฉบับที่ 25) ลงวันที่ 26 มิ.ย.2564 และข้อกำหนด (ฉบับที่ 27)ลงวันที่ 10 ก.ค.2564 มาใช้บังคับเท่าที่ที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดนี้

 

การลดและจํากัดการเคลื่อนย้ายการเดินทาง

ให้ประชาชนในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวดที่ได้มีคําสั่งตามข้อ 2 เลี่ยง จํากัด หรืองดเว้นภารกิจที่ต้องเดินทางออกนอกเคหสถาน หรือที่พํานักโดยไม่จําเป็น สําหรับการเดินทางในบางกรณีที่จําเป็น เช่น การเดินทางเพื่อจัดหาเครื่องอุปโภคบริโภคที่จําเป็น ต่อการดํารงชีวิต อาหาร ยาหรือเวชภัณฑ์

การเดินทางเพื่อพบแพทย์ เพื่อเข้ารับบริการทางการแพทย์ และสาธารณสุข การรักษาพยาบาล การรับวัคซีนป้องกันโรค หรือมีความจําเป็นเพื่อปฏิบัติงาน หรือการประกอบอาชีพที่ไม่สามารถปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งได้

สามารถกระทําได้ แต่ต้องพึ่งใช้ความระมัดระวัง ในการป้องกันตนเองตามคําแนะนําของพนักงานเจ้าหน้าที่ และปฏิบัติตามมาตรการ ป้องกันโรคที่ทางราชการกําหนดอย่างเคร่งครัด

ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ โดยการสนับสนุนของกทม. กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดําเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนอาสาสมัครและจิตอาสา ในการให้ความช่วยเหลือและกระจายสิ่งอุปโภคบริโภคที่จําเป็นแก่ประชาชน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน

เคอร์ฟิวต่ออีก 14 วัน ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด

กําหนดพื้นที่ห้ามออกนอกเคหสถานเพิ่มเติม เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ห้ามบุคคลใดในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ออกนอกเคหสถานในระหว่างเวลา 21.00-04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น ต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 วัน นับแต่วันที่ข้อกําหนดฉบับนี้ใช้บังคับ

โดยให้เป็นไปตามเงื่อนไขการปฏิบัติของพนักงานเจ้าหน้าที่ และการกําหนดบุคคลที่ได้รับยกเว้น การห้ามออกนอกเคหสถานตามข้อกําหนด (ฉบับที่ 27) ลงวันที่ 10 ก.ค.2564

การกําหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคม และการตรวจคัดกรองการเดินทาง เฉพาะเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เพื่อประโยชน์ในการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรค

ให้พนักงานเจ้าหน้าที่โดยการสนับสนุนจากศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งจุดตรวจ ด่านตรวจ หรือจุดสกัด ในเส้นทางคมนาคมเข้าออกเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดตามข้อกําหนดนี้

โดยเน้นการปฏิบัติ เพื่อการคัดกรอง ชะลอหรือสกัดกั้นการเดินทางออกนอกเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดเพื่อเดินทางไปยังพื้นที่อื่น โดยให้เป็นไปตามแนวทางที่ศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) กําหนด เป็นระยะเวลาต่อเนื่องอย่างน้อย 14 วัน

และให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติ ตามมาตรการ ข้อห้าม ข้อยกเว้น หรือแนวทางที่กําหนดไว้ในข้อกําหนด (ฉบับที่ 27) ลงวันที่ 10 ก.ค.2564 ข้อกําหนด (ฉบับที่ 25) ลงวันที่ 26 มิ.ย.2564 ทั้งนี้ ให้นํากรณีหรือบุคคลที่ได้รับยกเว้นตามข้อ 4 และข้อ 5 ของข้อกําหนด (ฉบับที่ 27) ลงวันที่ 10 ก.ค.2564 มาใช้โดยอนุโลม

 

จำกัดจำนวนผู้โดยสารในขนส่งสาธารณะ

ให้กระทรวงคมนาคม กรุงเทพมหานคร จังหวัด หรือหน่วยงาน ที่รับผิดชอบกํากับดูแลการให้บริการขนส่งผู้โดยสารสาธารณะทุกประเภทในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และการขนส่งสาธารณะทุกประเภทระหว่างจังหวัดทั่วราชอาณาจักร ให้เป็นไปตามแนวทาง ที่ ศปก.ศบค. กําหนด

โดยจํากัดจํานวนผู้โดยสารที่ใช้บริการไม่เกินร้อยละห้าสิบ ของความจุผู้โดยสาร สําหรับยานพาหนะแต่ละประเภท รวมทั้งจัดให้มีการเว้นระยะห่างและการปฏิบัติตามมาตรการ ด้านสาธารณสุขที่ทางราชการกําหนดอย่างเคร่งครัด โดยพิจารณาจัดการให้บริการขนส่งสาธารณะ ให้เพียงพอต่อความจําเป็นและตามเวลาที่เหมาะสมในการเดินทางของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การอํานวยความสะดวกการขนส่งประชาชนเพื่อรับบริการฉีดวัคซีนและบริการทางการแพทย์

มาตรการควบคุมแบบบูรณาการเร่งด่วน เฉพาะพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด

ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อ กรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี พิจารณาดําเนินการตามกฎหมาย ว่าด้วยโรคติดต่อ เพื่อมีคําสั่งปิดสถานที่หรือกิจการที่มีความเสี่ยง เพื่อประโยชน์ในการควบคุมและป้องกัน การแพร่ของโรคติดเชื้อโควิด-19 โดยให้ดําเนินการต่อเนื่องอย่างน้อยเป็นระยะเวลาสิบสี่วัน

โดยสําหรับการให้บริการดังต่อไปนี้ ให้เปิดดําเนินการได้เฉพาะภายใต้เงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบ ระเบียบ และมาตรการป้องกันโรคที่กําหนดที่เข้มงวดยิ่งขึ้นจากที่ได้เคยกําหนดไว้แล้ว

  • การจําหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ร้านจําหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้เปิดดําเนินการได้ จนถึงเวลา 20.00 น. โดยห้ามการบริโภคในร้าน และให้ดําเนินการเฉพาะการนํากลับไปบริโภคที่อื่นเท่านั้น
  • ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการอื่น ที่มีลักษณะคล้ายกัน ให้เปิดให้บริการได้เฉพาะแผนกซูเปอร์มาร์เก็ต แผนกยาและเวชภัณฑ์ พื้นที่ซึ่งจัดให้เป็นการให้บริการฉีดวัคซีน หรือบริการทางการแพทย์ และการสาธารณสุขอื่น ๆ ของภาครัฐ โดยให้เปิดดําเนินการได้ จนถึงเวลา 20.00 น.
  • โรงแรม ให้เปิดดําเนินการได้ตามเวลาปกติ โดยให้งดกิจกรรมจัดการประชุม การสัมมนา หรือการจัดเลี้ยง
  • ร้านสะดวกซื้อ และตลาดสด ให้เปิดดําเนินการได้จนถึงเวลา 20.00 น. โดยจํากัดเวลา สําหรับร้านสะดวกซื้อ ซึ่งตามปกติเปิดให้บริการในช่วงเวลากลางคืน ให้ปิดให้บริการในระหว่างเวลา 20.00-04.00 น.ของวันรุ่งขึ้น

  • โรงเรียน สถาบันการศึกษาหรือฝึกอบรม และสถานศึกษาต่าง ๆ ให้ปฏิบัติตามมาตรการ ที่ได้ประกาศไว้แล้วก่อนหน้า

การบังคับใช้มาตรการตามข้อกําหนด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบและกํากับ การปฏิบัติตามมาตรการ ข้อห้าม และข้อปฏิบัติตามข้อกําหนดนี้เป็นระยะเวลาต่อเนื่องอย่างน้อย 14 วัน (เริ่มตั้งแต่ 20 ก.ค.-2 ส.ค.2564) โดยให้ประเมินสถานการณ์และความเหมาะสมของมาตรการ ตามข้อกําหนดนี้ทุกห้วงระยะเวลา 7 วัน แต่การเตรียมการด้านบุคลากร สถานที่ และการประชาสัมพันธ์ เพื่อแจ้งเตือนให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่เตรียมพร้อมเป็นการล่วงหน้าให้ทําได้ตลอดเวลา

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ราชกิจจาฯ ออกประกาศเพิ่ม "ชลบุรี-ฉะเชิงเทรา-อยุธยา" พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด

น่าห่วง! ยอดติดโควิดรายวัน 11,079 คนเสียชีวิตเพิ่ม 101 คน

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง