น.สพ.เกษตร สุเตชะ นายกสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับนกป่า และ นกในบัญชีรายชื่อสัตว์ป่าคุ้มครอง ที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดค้าออนไลน์ แต่สวนทางการอนุรักษ์อย่างสิ้นเชิง และ ทำให้นกหายากหลายชนิดพันธุ์ตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ เขาบอกว่า "ชีวิตนกมันแย่ ตั้งแต่คุณจับมันออกจากป่าแล้ว"
เลี้ยงนกอะไรก็ผิด? นกเกือบทุกชนิดพันธุ์หรือไม่ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อสัตว์ป่าคุ้มครอง
สัตว์ป่าจำพวกนกในประเทศไทย เกือบทั้งหมด 1,075 ชนิด เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 อนุญาตให้บางชนิดเท่านั้นที่เพาะเลี้ยงได้อย่างถูกกฎหมายโดยได้รับอนุญาตจากรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เช่น นกเขาชวา นกเขาใหญ่ ไก่ป่า ไก่ฟ้า นกยูง พวกนี้จะมีรายชื่ออยู่ที่กรมอุทยานฯ อนุญาตให้เพาะเลี้ยงได้
ส่วนชนิดพันธุ์อื่นที่เหลือทั้งหมดไม่สามารถเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงในบ้านได้ ถ้าจะเลี้ยงก็ต้องเป็นนกสายพันธุ์จากต่างประเทศที่ไม่อยู่ในบัญชีรายชื่อสัตว์ป่าคุ้มครองของไทย เป็นกฎหมายที่ศักดิ์สิทธิ์ มีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2503 ถือว่าเป็นประเทศแรกในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีกฎหมายออกมาคุ้มครองสัตว์ป่าจำพวกนก
มี กม.คุ้มครอง ทำไมตลาดค้านกทั้งแผงค้าและออนไลน์ยังคึกคัก
ที่เห็นโพสต์ขายทางเฟซบุ๊ก มี 2 ส่วน คือ อย่างแรกช่วงโควิด-19 ผู้ค้าที่ไม่มีสถานที่ขายเพราะมาตรการควบคุม ก็หันมาขายทางออนไลน์ โดยเฉพาะเฟซบุ๊กที่คนไทยใช้กันเยอะมาก รองลงมาก็ Instagram twitter shopee Lazada คือขายทุกช่องทางที่ขายได้ เพราะง่ายสะดวก แต่ทั้งหมดผิดกฎหมายนะ ไม่ได้ส่งเสริมให้ทำ
ครั้งสุดท้ายที่กรมอุทยานฯ ใส่ห่วงขาให้นกที่อนุญาตให้เพาะพันธุ์และเลี้ยง คือ พ.ศ.2550 ครั้งแรก พ.ศ.2535 ครั้งที่ 2 พ.ศ.2550 เพราะฉะนั้นถ้าเจอนกอายุน้อยกว่า 14 ปี แต่มีห่วงที่ขา สันนิษฐานได้ว่ามีการถอดห่วงขาของนกตัวที่ตายแล้วเอามาใส่ตัวใหม่ อย่างนี้ผิดกฎหมายนะที่เรียกว่า “สวมสิทธิ” คือเรียกได้ว่านกที่ขายกันได้แบบถูกกฎหมายแทบจะไม่มีอยู่แล้ว ที่เห็นนกเลี้ยงอยู่ทุกวันนี้แล้วมีห่วงขาคือ สวมห่วงทั้งนั้น
นกในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองสามารถเพาะพันธุ์เพื่อจำหน่ายได้หรือไม่
ถ้าผู้ขายบอกว่า นกของเขาเพาะพันธุ์ได้เองจึงมีสิทธิขายได้ คำตอบคือผิด เพราะหากไม่ใช่นกชนิดพันธุ์ที่กรมอุทยานฯ อนุญาตให้เพาะพันธุ์เชิงพาณิชย์ได้ ก็ผิดตั้งแต่เลี้ยง เพาะพันธุ์ก็ผิด ขายก็ผิดเนื่องจากกฎหมายคุ้มครองสัตว์ตั้งแต่เกิดจนตาย
ล่าสุดที่เราเจอคือลูกนกชนหินที่ถูกล้วงจากรังแถวป่าชายแดนภาคใต้เอามาโพสต์ขาย นกชนหินเป็นหนึ่งในสัตว์ป่าสงวนของไทย ลำดับที่ 20 ได้รับความคุ้มครองสูงสุดตาม กม.ของไทย แต่ยังมีการลักลอบเอามาขาย หรือ กลุ่มนกเงือก เช่น กรามช้าง นกกก นกแก๊ก นกพญาปากกว้างท้องแดง กาน้อยหงอนยาว เป็นนกทางภาคใต้หายากทั้งนั้น
นกทุกตัวล้วนแต่เกิดมามีหน้าที่ อย่างเช่น กำจัดแมลงให้ต้นไม้เติบโตต่อไปได้ กินผลไม้แล้วบินไปขี้เมล็ดตามที่ต่างๆ สร้างป่า แต่คนใจร้ายไปจับมานำมาเป็นสัตว์เลี้ยง ทำให้นกไม่ได้ทำหน้าที่ เป็นปัญหาที่ทำให้ป่าหายไปเรื่อยๆ ทำลายธรรมชาติระยะยาว
ความคิดที่ว่า เอามาเลี้ยงแค่ไม่กี่ตัวคงไม่เป็นไร คุณทราบหรือไม่ว่านกเงือกอายุราว 50 ปี สามารถปลูกต้นไม้ในทุกวันได้ตลอดชีวิตจำนวนมากเท่าไร คุณเอามันมาเก็บไว้ในบ้านสวยงาม เพาะพันธุ์ได้ก็ถ่ายรูปอวดเพื่อนบ้าง ขายบ้าง ไม่มีประโยชน์นะ มันไม่ได้ทำหน้าที่ของมันที่วิวัฒนาการมา
คนรักนกที่แท้จริงควรจะต้องเป็นอย่างไร
ชื่นชมและสนับสนุนให้นกอาศัยอยู่ตามสิ่งแวดล้อมเดิมในธรรมชาติ อย่างเช่น คุณยินดีที่จะเห็นนกเงือกบินอยู่ในป่าหากินเสรี คุณยินดีที่จะสนับสนุนให้มันมีชีวิตอยู่อย่างนั้น เช่น สนับสนุนมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือกบอกว่า พวกเขาเฝ้าระวังไม่ให้พรานป่า นักค้านกมาล้วงลูก และบริจาคเงินเพื่อซ่อมรังให้มันมาวางไข่ได้ในปีถัดๆไป หรือร่วมโครงการบริจาคเงินเพื่อซื้อที่ดินสำหรับนกอพยพมาบริเวณนั้นๆ อย่างนี้ที่เรียกว่ารักนกจริงๆ ความรักที่ไม่ต้องครอบครองคือความรักที่บริสุทธิ์ที่สุด เป็นจิตสำนึกสากลที่เขาทำกันทั่วโลก
ถ้าอยากให้ที่บ้านมีเสียงนกร้องทุกเช้า คุณก็ปลูกต้นกล้วย ตะขบ ต้นไทร ต้นกร่าง จะมีนกกางเขนบ้านมาร้องทุกวัน มีนกกินปลีอกเหลืองมาทำรังเป็นโมบาย มีนกสีชมพูสวน มีนกขมิ้นน้อย เป็นการสร้างสวนน้อยๆ ของคุณเองโดยไม่ต้องครอบครอง ไม่ต้องกักขัง และมันมีตลอดไป
ถ้าคุณเลี้ยงสัตว์ มันมีวันหมดอายุนะ แม้คุณจะเลี้ยงมันดียังไงอยู่มาวันหนึ่งมันจะสิ้นอายุขัยไป ทั้งค่าอาหารอุปกรณ์ของเล่น ค่ารักษาพยาบาลเมื่อมันป่วย และโศกเศร้าเมื่อมันจากคุณไป แต่ถ้าคุณทำสวนแล้วนกมาอยู่เอง คุณจะมีความสุขไปตลอดชีวิตโดยไม่ต้องครอบครอง และนกเหล่านี้ก็จะเพิ่มจำนวนตามธรรมชาติของมันเอง
หรือหากถ้าคุณสนับสนุนกลุ่มคนที่ทำงานด้านนก อย่างเช่น สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก มูลนิธิสืบนาคะเสถียร มูลนิธิโลกสีเขียว ให้พวกเขาออกไปช่วยเหลือธรรมชาติ ให้สัตว์ได้อาศัยสิ่งแวดล้อมในป่าได้อย่างมีความสุข นี่คือความรักที่แท้จริง
กลุ่มผู้ค้านกป่าใช้วิธีการอย่างไรในการตามพิกัดนกทำรัง
สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย ติดตามกลุ่มผู้ค้านกป่ามานานกว่า 30 ปี ตั้งแต่ที่สนามหลวง ย้ายมาตลาดนัดจตุจักร ไปสนามหลวง 2 และ สถานที่ค้าอื่นๆ จนตอนนี้มาขายอยู่ในโซเชียลมีเดีย วิธีการค้าเหมือนเดิม ผู้ค้าสลับสับเปลี่ยนอายุน้อยลงเรื่อยๆ
ตอนนี้ สมาคมฯ ใช้วิธีติดต่อสื่อสารกับกลุ่มผู้อนุรักษ์นกทางเฟซบุ๊กเป็นหลัก เช่น ถ่ายรูปนกหายากเจอที่ไหน ชนิดพันธุ์อะไร เราในฐานะผู้มีองค์ความรู้ก็จะตอบคำถามลูกเพจ ทำให้กลุ่มผู้ค้าในปัจจุบันตามข่าวจากสิ่งนี้ด้วยการเข้าไปถามพิกัดจุดทำรังหรือถิ่นที่อยู่ของนกนั้น ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของผู้อนุรักษ์นกก็ให้ข้อมูลพิกัดไปด้วยความยินดีที่จะแบ่งปันความสุข ทำให้ผู้ล่าไปตามพิกัดจับมาขาย กลุ่มคนดูนกจริงๆ มี 3,000 - 4,000 คนเองนะ ขณะที่ ผู้ล่ามีหลายหมื่น
การรายงานชนิดพันธุ์นกที่พบให้สมาคมฯ บันทึกเป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ถือเป็นภารกิจสำคัญของสมาชิก เพราะสามารถใช้เป็นข้อมูลเปรียบเทียบสถานการณ์ของนกชนิดนั้นๆ ได้ เช่น เคยพบ 100 ตัวในปีนี้ แต่ อีก 20 ปีข้างหน้าอาจมีผู้พบเพียง 2 ตัว เป็นต้น
ช่วงโควิด-19 ระบาด การค้านกป่ากลับเฟื่องฟูขึ้นกว่าเดิม
ตลาดค้าปิด ผู้ค้าเปลี่ยนไปขายออนไลน์ ใครก็ทำได้เพราะหลายคนตกงานก็มาค้านกเพราะกำไรดี ส่วนผู้ซื้อก็เป็นผู้เลี้ยงหน้าใหม่เยอะ เพราะกักตัวอยู่บ้านไม่รู้จะทำอะไร ก็ไถฟีดเฟซบุ๊ก
เมื่อมีคนต้องการซื้อ ต้องมีคนหามาขาย อะไรก็ได้ทุกอย่างผิดหรือถูกกฎหมาย ดังนั้น ถ้านักวิชาการและสื่อสารมวลชน ช่วยกันทำให้ความต้องการซื้อลดลง คนหาซื้อก็จะลดลง ส่วนต่างตั้งแต่ในป่าถึงปากทางก็ลดลง ก็จะลดการล่าลงเอง เพราะนกป่าก็คือสินค้าอย่างหนึ่งในฟีดเฟซบุ๊กที่ขายดีอย่างไม่น่าเชื่อ แต่มันคือการทำลายชีวิต
นกที่ถูกจับมาจากป่า ร้อยละ 90 จะตายภายใน 1 ปี อีกร้อยละ 9 จะพิการ กระดูกหักผิดรูป ขนไม่สวย ปากซีด ตับพัง เป็นเก๊าท์อะไรอย่างนี้ ที่เกิดจากการเลี้ยงฝืนธรรมชาติ และ ร้อยละ 1 จะหลุดออกไปสู่สถานเพาะเลี้ยงของกรมอุทยานฯ ซึ่งไม่สามารถกลับเข้าป่าได้แล้ว
เหตุผลที่นกไม่สามารถกลับเข้าป่าได้ เพราะไม่มีพ่อแม่คอยสอนว่ากินที่ไหน อะไรกินได้ อะไรคือศัตรู ฤดูไหนไปอยู่ที่ไหน ทำรังวางไข่ยังไง สานรังยังไง นกเรียนรู้โดยการเคยเห็น เคยกิน เคยได้ยิน เคยทำ ไม่มีหรอกที่เกิดมาจะสร้างรังได้เองโดยไม่มีพ่อแม่คอยสอน