วันที่ 12 ส.ค.2564 นายสุกฤษฏิ์ ธีระปัญญารัตน์ อายุ 26 ปี อาสาสมัครที่ร่วมทดสอบวัคซีน ChulaCov19 โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Sukrit Terapanyarat เล่าประสบการณ์ว่า "ว่าด้วยประสิทธิภาพวัคซีน ChulaCOV-19 วัคซีน mRNA ตัวแรกของไทย"
ก่อนอื่นต้องอธิบายว่า ทางโครงการวิจัยไม่ได้มีการเปิดเผยเลขภูมิคุ้มกันของวัคซีนแก่อาสาสมัคร เพียงแต่บอกได้ว่าดีมาก ดังนั้นจะเป็นการรีวิวและอธิบายจากประสบการณ์จริง เมื่อที่บ้านและออฟฟิศของผม ติด COVID-19 เกือบยกครัว แต่ "ผม" เป็นคนเดียวที่ไม่ติด
1. วัคซีน ChulaCov19 ถูกพัฒนาขึ้นโดยะศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19
2. วัคซีนดังกล่าวใช้เทคโนโลยี mRNA ที่มีพัฒนาและวิจัยต่อยอดจาก Moderna ดังนั้นประสิทธิภาพที่ออกมาจึงมั่นใจได้ว่าเทียบเท่า Pfizer และ Moderna หรืออาจจะดีกว่าสำหรับการป้องกันไวรัสสายพันธุ์เดลตา เพราะกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาต่อไป หลังจากทดสอบกับอาสาสมัครกลุ่มแรก
3. ตนเองได้รับวัคซีนขนาด 25 ไมโครกรัม (ใช้น้อยกว่า Pfizer) จำนวน 2 โดส ฉีดห่างกัน 3 สัปดาห์
4. อาการและผลข้างเคียง ฉีดโดสแรกในวันที่ 24 มิ.ย.2564 มีอาการปวดหัวและอ่อนเพลียอย่างเห็นได้ชัดต่อเนื่อง 2-3 วัน ไม่มีไข้ และยังทำงานได้ปกติ ส่วนโดสที่วันที่ 15 ก.ค.2564 มีอาการปวดหัวมากกว่าโดสแรก หลังจากฉีด 2 ชั่วโมง และถึงขั้นซมหลังฉีด 6 ชั่วโมง มีไข้หรือตัวรุม ๆ แต่ไข้ไม่สูง ปวดหัวตลอดทั้งคืน กว่าจะทุเลาลงก็คือวันที่ 2 หลังจากนั้นไข้หายใน 2 วัน ส่วนอาการปวดหัวจะต่อเนื่องไปร่วม 3-4 วันเลยทีเดียว
5. หลังจากฉีดวัคซีนครบ 2 โดสได้ราว 1 สัปดาห์ พ่อของผมเริ่มมีอาการป่วย ปวดหัว ไอ ส่วนพนักงานที่ออฟฟิศไปตรวจโควิด Rapid Antigen Test ผลปรากฏว่าติด COVID-19 จึงมีการตรวจกันทั้งบ้าน ปรากฎว่า พนักงานออฟฟิศติดเชื้อ 2 คน ไม่ติด 1 คน (ซึ่งคนที่บ้านของพนักงานติดเกือบยกครอบครัว) และพ่อของตนเองติดเชื้อ
6. ทางโครงการวิจัยฯ ได้นัดให้ไปตรวจ RT-PCR อีกรอบ เพราะตนเองกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงใกล้ชิดผู้ป่วย ซึ่งผลออกมาว่า ไม่มีเชื้อ COVID-19
7. พ่อของตนเองมีอาการหนักสุด ส่วนพนักงานแทบไม่มีอาการ ได้ทำการรักษาตามอาการแบบ Home Isolation แยกบ้านกันอยู่
8. เหตุการณ์เหมือนจะไม่มีอะไร แต่หลังจากนั้นประมาณ 1 สัปดาห์ อยู่ ๆ อาการพ่อทรุดหนัก ไข้ขึ้นสูง ความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือด (SpO2) ลดลงต่อเนื่องจาก 95 เหลือ 92 ในช่วงเย็น และเหลือ 89 ในช่วงกลางคืน ไม่ค่อยมีสติและสื่อสารลำบาก
9. ด้วยความจำเป็นที่จะต้องหาโรงพยาบาลด่วน ซึ่งอย่างที่ทุกคนทราบคือ ทุกที่เตียงเต็ม โชคดีที่ติดต่อโรงพยายาลสมุทรสาครได้ แต่โรงพยาบาลก็ไม่มีรถฉุกเฉิน จำเป็นที่เราจะต้องขับรถไปเอง วันที่ 29 ก.ค.ที่ผ่านมา หลังจากเพิ่งตรวจ RT-PCR ในวันเดียวกัน ตนเองต้องใกล้ชิดคพ่อซึ่งเป็นผู้ป่วยอีกครั้ง ครั้งนี้มีการสัมผัสและใกล้ชิดมาก แต่ด้วยความจำเป็นต้องพาไปโรงพยาบาล จึงไม่มีทางเลือก (อุปกรณ์ป้องกันมีเพียงหน้ากากอนามัย 2 ชั้น face shield และถุงมือยาง)
10. พ่อของตนเองโชคดีที่ห้อง ER มีเตียงว่าง ได้รับการรักษาและรับยาฟาวิพิราเวียร์ทันที แม้จะยังไม่เคยตรวจ RT-PCR มาก่อน ก่อนจะได้แอดมิทที่โรงพยาบาลสมุทรสาคร แม้จะเป็นผู้ป่วยนอก ซึ่งปัจจุบันอาการดีขึ้นมากแล้ว ย้ายไปโรงพยาบาลสนาม และใกล้จะได้กลับมารักษาตัวต่อที่บ้าน
11. ส่วนตนเองยังมีนัดต้องไปเจาะเลือดเก็บตัวอย่างกับทางโรงพยาบาลจุฬาฯ เพื่อวัดภูมิวัคซีนหลังฉีด 3 สัปดาห์ ซึ่งเป็นเวลาหลังจากได้สัมผัสผู้ป่วยโดยตรงประมาณ 12 วัน ไม่ได้มีอาการอะไร จึงได้ทำการ Rapid Antigen Test อีกครั้ง และผลก็ออกมาบอกว่า ไม่มีเชื้อ
ผมผ่านการเสี่ยงติดเชื้อมาแล้วถึง 3 ครั้ง และตรวจ 3 รอบ ด้วยผลทดสอบนี้ น่าจะบ่งบอกได้ดีถึงประสิทธิภาพของวัคซีน mRNA ได้ดีในระดับหนึ่ง และเป็นเหตุผลว่า ทำไมวัคซีน ChulaCOV น่าจะเป็นวัคซีนตัวความหวังของคนไทย
สำหรับความเสี่ยงในการสัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อครั้งที่ 1 คือ การทำงานในออฟฟิศ อยู่กับผู้ที่ติดเชื้อในช่วงที่เชื้อกำลังฟักตัวและไม่มีอาการ, ครั้งที่ 2 หลังจากคนรอบข้างอาการเริ่มออก และมีผลตรวจยืนยันติดเชื้อ เริ่มให้พนักงาน Work From Home แต่ก่อนหน้านั้นตนเองยังคงต้องขับรถ ร่วมโดยสารกับผู้ที่ติดเชื้อทุกวัน และครั้งที่ 3 กลับมาสัมผัสผู้ป่วย COVID-19 โดยตรงอีกครั้ง หลังจากเว้นระยะห่างกันมานาน 1 สัปดาห์
ส่วนคำถามว่า "คนไทยจะได้ฉีดวัคซีนตัวนี้เมื่อใด" คำตอบก็คือ กว่าจะวิจัยพัฒนาและทดสอบกับอาสาสมัครกลุ่มที่ 2 และกลุ่ม 3 แล้วเสร็จ น่าจะช่วงไตรมาส 1-2 ของปี 2565 แต่หากฉุกเฉินจริง ๆ ไม่แน่ว่า อาจจะมีการใช้วัคซีนตัวนี้เป็นเข็มที่ 3 ในช่วงปลายปี
ทั้งนี้ วัคซีน ChulaCov19 เป็นการคิดค้นออกแบบและพัฒนาโดยคนไทยจากความร่วมมือสนับสนุนโดยแพทย์นักวิทยาศาสตร์ผู้คิดค้นเทคโนโลยีนี้ของโลก คือ Prof.Drew Weissman มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย วัคซีน ChulaCov19 ผลิตโดยสร้างชิ้นส่วนขนาดจิ๋วจากสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโคโรนา (โดยไม่มีการใช้ตัวเชื้อแต่อย่างใด) ซึ่งเมื่อร่างกายได้รับชิ้นส่วนของสารพันธุกรรมขนาดจิ๋วนี้เข้าไป จะทำการสร้างเป็นโปรตีนที่เป็นส่วนปุ่มหนามของไวรัสขึ้น (spike protein) และกระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันไว้เตรียมต่อสู้กับไวรัสเมื่อไปสัมผัสเชื้อ เมื่อวัคซีนชนิด mRNA ทำหน้าที่ให้ร่างกายสร้างโปรตีนเรียบร้อยแล้ว ภายในไม่กี่วัน mRNA นี้จะถูกสลายไปโดยไม่มีการสะสมในร่างกายแต่อย่างใด
ที่ผ่านมาทางศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ ประสบผลสำเร็จในการทดลองในลิง และหนู พบว่าสามารถช่วยยับยั้งไม่ให้เชื้อไวรัสเข้าสู่กระแสเลือดและสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ในระดับสูง จึงนำมาสู่การผลิต และทดสอบทางคลินิกระยะที่ 1 แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มอายุ จำนวน 72 คน กลุ่มแรก เป็นอาสาสมัครผู้ที่มีอายุ 18-55 ปี ทดสอบจำนวน 36 คน กลุ่มที่ 2 เป็นอาสาสมัครผู้ที่มีอายุ 65-75 ปี ทดสอบจำนวน 36 คน
ในจำนวน 2 กลุ่มข้างต้นจะแบ่งเป็นกลุ่มย่อยที่ฉีดวัคซีน 10 ไมโครกรัม, 25 ไมโครกรัม และ 50 ไมโครกรัม เพื่อดูว่า วัคซีน ChulaCov19 มีประสิทธิภาพสูงสุดที่ปริมาณเท่าใด เพราะปัจจุบันโมเดอร์นาใช้วัคซีนปริมาณ 100 ไมโครกรัม ส่วนไฟเซอร์ใช้ 30 ไมโครกรัม ทางศูนย์ฯ ต้องศึกษาว่าคนไทย หรือเอเชีย เหมาะกับการฉีด 10 หรือ 25 หรือ 50 ไมโครกรัม จะได้รู้ขนาดที่ปลอดภัยและกระตุ้นภูมิได้สูง หลังจากนั้นจึงเข้าสู่การทดสอบทางคลินิกระยะที่ 2 ส่วนการทดสอบในระยะที่ 2 จำนวน 150-300 คน คาดว่าเริ่มต้นฉีดได้ประมาณเดือน ส.ค.2564 เป็นต้นไป