วันนี้ (16 ส.ค.2564) ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย แถลงผลการทดสอบระยะแรก ChulaCov19 วัคซีน mRNA สัญชาติไทยรุ่นเแรก ว่า ผลเบื้องต้นของระยะที่ 1 เป็นข่าวดี แต่จำนวนตัวอย่างยังมีขนาดเล็ก จำนวน 36 คน อายุระหว่าง 18-55 ปี และยังไม่ได้ตีพิมพ์ข้อมูลในวารสารนานาชาติ
ขณะที่กลุ่มอาสาสมัครดังกล่าวฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 แล้ว โดยรายงานผลของวันที่ 29 หลังจากการฉีดวัคซีน หรือ 7 วัน หลังฉีดเข็มที่ 2 ส่วนอาสาสมัคร 36 คน อายุระหว่าง 56-75 ปี กำลังดำเนินการฉีดเข็มที่ 2 ต้องใช้ความระมัดระวังรอบคอบมากขึ้น รวมทั้งติดตามอาการนานขึ้น
ก่อนสิ้นเดือน ส.ค.นี้ จะเริ่มเฟส 2A จำนวน 150 คน อาสาสมัครอายุระหว่าง 18-75 ปี ในจำนวนนี้ 20 คนจะฉีด ChulaCov19 ในขนาดที่เหมาะสมจากระยะที่ 1 ส่วนอีก 30 คน จะฉีดวัคซีนไฟเซอร์ และเปรียบเทียบกันในเชิงวิชาการ
ผลเบื้องต้นของ 36 คนแรก ยังไม่มีผลข้างเคียงรุนแรง ส่วนใหญ่เจ็บตรงจุดที่ฉีด ผลข้างเคียงที่พบจะอยู่ในระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง และดีขึ้นภายใน 1-3 วัน
สรุปผลเบื้องต้น ChulaCov19
- วัคซีนสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันชนิดแอนติบอดี ได้สูงเทียบได้กับวัคซีน mRNA เช่น ไฟเซอร์
- กระตุ้นแอนติบอดีที่ได้สูงมากในการยับยั้งเชื่อสายพันธุ์ดั้้งเดิม
- แอนติบอดีที่สูงนี้ สามารถยับยั้งเชื้อข้ามสายพันธุ์ได้ทั้ง 4 สายพันธุ์ คือ อัลฟา เบตา แกมมา และเดลตา
- สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันชนิด ที-เซลล์ ซึ่งจะช่วยขจัดและควบคุมเชื้อที่อยู่ในเซลล์ของคนที่ติดเชื้อได้
ทั้งนี้ ยังมีอีก 3 ขั้นตอน จึงสามารถขึ้นทะเบียนวัคซีน ChulaCov19 ได้ โดยปลายสัปดาห์นี้ คณะกรรมการฯ จะประชุมหารือเชิงวิชาการว่าจะเลือกโดสใดในการทดสอบต่อ และใช้กับ COVID-19 ข้ามสายพันธุ์ได้
เรื่องเวลาตึงมาก หากใช้วิธีดั้งเดิมอาจไม่ทัน
ระยะ 2A คาดว่าจะเริ่มฉีดวันที่ 25 ส.ค.นี้ โดยปีหน้าอาจใช้วัคซีนนี้เป็นการกระตุ้นเข็ม 3 ส่วนเฟส 2B อยู่ที่กติกาของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำลังหารือทางวิชาการ เดือน ก.ย.น่าจะทราบว่าต้องดำเนินการอะไรบ้าง
ศ.นพ.เกียรติ ตั้งเป้าต้องการให้ไทยมีวัคซีนที่ผลิตเองอย่างน้อย 1 วัคซีน ใช้ในช่วงก่อนสงกรานต์ปี 2565 ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายคนไทยและผู้ที่เกี่ยวข้อง ส่วนวัคซีน ChulaCov19 จะฉีดห่างกัน 3 สัปดาห์
เร่งยังไงก็ตาม ความปลอดภัยต้องมาอันดับ 1 ประสิทธิภาพคู่มา ทำอย่างไรให้ไทยมีวัคซีนอย่างน้อย 1 ใน 4 วัคซีน ได้รับการรับรองภายในเดือน เม.ย.2564
นอกจากนี้ เพื่อให้ไทยมีวัคซีนอย่างน้อย 1 ใน 4 วัคซีน และได้รับการรับรอง EUA ภายในช่วงเดือน เม.ย.2564 ต้องมีองค์ประกอบ 4 ข้อ คือ
1. ต้องไม่บริหารทุนแบบเดิม โดยการระดมทุนต้องมีเป้าหมายร่วมกันทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน ต้องมีงบประมาณที่เพียงพอ รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ
2. กติกาในการขึ้นทะเบียนวัคซีนของ อย. ต้องมีกติกาที่ชัดภายเจนภายในเดือน ก.ย. ว่าการขึ้นทะเบียนจะต้องทำวิจัยระยะ 2B และหรือระยะ 3 อย่างไรจึงจะเพียงพอ ยกตัวอย่างไต้หวันทำวิจัยเพียงระยะ 2B
หรือมีกติกาว่าต้องชนะ หรือดีเท่าวัคซีนที่ขึ้นทะเบียนในไทย
3. โรงงานไทย ต้องเร่งผลิตวัคซีนที่มีคุณภาพและจำนวนมากได้ภายในก่อนสิ้นปี 2564
4. นโยบายการจองและจัดซื้อวัคซีนล่วงหน้าของรัฐ หรือเอกชน ประชาชน ต้องมีความชัดเจน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
แพทย์จุฬาฯ ทดลองฉีดวัคซีน ChulaCov19 ในมนุษย์ครั้งแรก
จุฬาฯ รับอาสาสมัครฉีดวัคซีน ChulaCov19 เริ่มฉีดปลายเดือน ส.ค.
อาสาสมัครรีวิวฉีด "ChulaCOV-19" วัคซีน mRNA ตัวแรกของไทย