ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ส.อ.ท.ห่วงภาคประชาชน-เอสเอ็มอียืนระยะไม่ไหวจากล็อกดาวน์

เศรษฐกิจ
16 ส.ค. 64
18:48
208
Logo Thai PBS
ส.อ.ท.ห่วงภาคประชาชน-เอสเอ็มอียืนระยะไม่ไหวจากล็อกดาวน์
ประธาน ส.อ.ท.แสดงความเป็นห่วงภาคประชาชนและธุรกิจเอสเอ็มอียืนระยะไม่ไหวจากมาตรการล็อกดาวน์ พร้อมเรียกร้องให้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แรงงานในระบบประกันสังคมมากขึ้น หลังจากฉีดไปได้แค่ 10% หรือแรงงาน 1 ล้านคน จากกว่า 10 ล้านคน

วันนี้ (16 ส.ค.2564) นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงผลกระทบเศรษฐกิจต่อมาตรการล็อกดาวน์ว่า ต้องยอมรับว่าวันนี้ลำบากมากอยู่แล้ว ภาคเอกชนหลายอาชีพค่อนข้างลำบาก ซึ่งขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจ ธุรกิจที่ผ่อนผันได้ อยากให้มีการผ่อนผัน แต่เข้าใจถึงความจำเป็น แต่ทุกธุรกิจที่ผ่อนผัน หรือธุรกิจที่กำลังเปิดล็อกดาวน์ จะต้องมีมาตรการที่ค่อนข้างเข้มงวด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจำนวนคน ระยะห่างทางสังคม เจลแอลกอฮอล์ และการใส่หน้ากากอนามัย ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ

ส่วนผู้ประกอบการควรทำเรื่องต่างๆ ให้มีความเข้มงวด เช่น ภาคอุตสาหกรรมที่มีการทำบับเบิล แอนด์ ซีล ในทุกโรงงาน เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรค ต้องยอมรับว่าถ้าขยายล็อกดาวน์ต่อไป จะส่งผลต่อภาคธุรกิจที่ย่ำแย่อยู่แล้ว

ร้องรัฐบาลช่วยเหลือค่าใช้จ่ายทำบับเบิล แอนด์ ซีล

นายสุพันธุ์ กล่าวว่า อยากให้รัฐช่วยเหลือด้านค่าใช้จ่ายในการทำบับเบิล แอนด์ ซีล ยอมรับว่าหลายแห่งลำบาก แต่ต้องดูว่าคลัสเตอร์โรงงานเกิดจากตรงไหน ส่วนใหญ่เกิดจากโรงงานขนาดใหญ่ ไม่ได้เกิดจากโรงขนาดเล็ก ซึ่งมีไม่กี่คน ถ้ามีผู้ติดเชื้อก็ต้องปิด แต่โรงงานขนาดใหญ่มีปัญหาแรงงานติดเชื้อ ดังนั้น โรงงานขนาดใหญ่ โอกาสที่จะทำบับเบิล แอนด์ ซีล ทำได้ง่ายขึ้น เช่น ในนิคมอุตสาหกรรมสินสาคร ที่นำพื้นที่ว่างมาทำบับเบิล แอนด์ ซีล ซึ่งจะต้องช่วยกันแก้ไขปัญหา แต่การจะให้ทำทุกโรงงานคงเป็นไปไม่ได้ แต่โรงงานใหญ่น่าจะช่วยกันทำให้ได้

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา โรงงานไม่ได้ปิด แต่การแพร่ระบาดมีหลายโรงงาน ซึ่งอาจจะต้องลดจำนวนการผลิตลง เพราะว่าจำนวนคนถูกบับเบิล แอนด์ ซีล โดนล็อกบ้าง คนหนึ่้งติดเชื้อโควิด-19 ทำให้คนรอบข้างมีความเสี่ยงและโดนล็อกไปด้วย แต่การทำบับเบิล แอนด์ ซีล จะเป็นกลุ่มน้อยลง และต้องมาเสียเวลาทำคลีนนิ่ง และการตรวจโควิด-19 ด้วยชุดตรวจ ATK ล้วนมีค่าใช้จ่ายทั้งหมด

โรงงานที่มีออเดอร์อยู่แล้ว ลดกำลังผลิตลง 5-10%

ประธาน ส.อ.ท.กล่าวอีกว่า วันนี้จะเห็นได้ว่าถ้าภาคอุตสาหกรรมที่มีออเดอร์อยู่แล้ว ยอดส่งออกสินค้าเต็มอยู่แล้ว แต่มีกำลังผลิตลดลงแล้ว 5-10% ไม่สามารถผลิตสินค้าเต็มที่อย่างทุกครั้งได้ อุตสาหกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับการส่งออก และและพึ่งหาในประเทศแย่ ขายไม่ได้ ผลิตได้น้อย ซึ่งมีปัญหาอยู่มาก

ส่วนการช่วยเหลือด้านวัคซีนโควิด-19 จะต้องไปดูมาตรา 33 ซึ่งในปัจจุบันได้ฉีดวัคซีนแค่ 10% จากแรงงานที่อยู่ในมาตรา 33 ประมาณ 10 ล้านคน ซึ่งตอนนี้ได้ 1 ล้านกว่าโดส ซึ่งยังน้อยมาก และอาจจะได้ฉีดวัคซีนบางส่วนจากส่วนอื่นๆ ก็ยังน้อยอยู่ ตรงนี้มีปัญหา

สำหรับภาคโรงงาน แต่การทำบับเบิล แอนด์ ซีล ก็จะช่วย เพราะโรงงานส่วนใหญ่ แรงงานที่ติดเชื้อจะเป็นกลุ่มสีเขียวที่ไม่มีอาการ ซึ่งไม่อยากให้กลุ่มนี้นำเชื้อโควิด-19 ไปติดคนในครอบครัว จะแก้ไขอย่างไร เพราะคนกลุ่มนี้จะหายและกลับมาทำงานได้ใหม่ จะเห็นได้ว่าแรงงานที่ติดเชื้อกันจำนวนมาก อย่างใน จ.สมุทรสาคร หรือพื้นที่อื่นๆ จะกลับมาทำงานได้โดยส่วนใหญ่ เกือบทั้งหมด เพียงแต่ทำอย่างไรไม่ให้เขาติดต่อ

ยอมรับล็อกดาวน์กระทบภาคอุตสาหกรรมไม่มาก

นายสุพันธุ์ กล่าวถึงผลกระทบจากการขยายล็อกดาวน์ว่า กระทบต่อภาคอุตสาหกรรมจริงๆ ไม่มาก เพราะว่าต้นน้ำยังผลิตได้อยู่ แต่ไปกระทบผู้บริโภค และการขายสินค้าและภาคบริการต่างๆ ในประเทศจะได้รับผลกระทบอย่างมาก ส่วนในส่วนของวัตถุดิบ หรือสินค้าอุปโภคบริโภคยังไม่ขาด แต่ว่าทำให้ความเสียหายเกิดขึ้น การส่งมอบอาจจะช้าลงบ้าง มีบางผลิตภัณฑ์เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ยังคงกังวลว่ามาตรการล็อกดาวน์ว่าจะกระทบไปถึงการจ้างงาน เพราะว่าหลายอุตสาหกรรมที่ไปไม่รอด มีการจ้างงานลดน้อยถอยลง และต่อไปเชื่อว่าทุกโรงงาน ที่มีความแข็งแรง จะเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิตทั้งหมด ด้วยการใช้หุ่นยนต์มากขึ้น และพึ่งคนให้น้อยลง

ส่วนกรณีที่หากสถานการณ์ยังยืดเยื้อ คิดว่าภาคอุตสาหกรรมจะยืนระยะไปได้สักแค่ไหน ที่จะไม่ส่งผลกระทบไปยังห่วงโซ่อุปทานทั้งหมดนั้น นายสุพันธุ์ กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมยังพอยืนระยะได้ แต่ที่เป็นห่วงคือภาคประชาชน และธุรกิจเอสเอ็มอี จะยืนระยะไม่ไหว และจะส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรมในที่สุด แต่ภาคอุตสาหกรรมน่าจะยืนได้นานกว่าภาคอื่นๆ แต่ล่าสุดจะยืนระยะไม่ได้แล้ว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง