วานนี้ (22 ส.ค.2564) นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าวว่า กรณีที่พบกระทิงป่วยและตาย 1 ตัว ด้วยโรคไวรัสลัมปี สกิน ครั้งแรกในประเทศ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี
ทั้งนี้ ตั้งแต่มีรายงานการระบาด ยืนยันกระทิงติดลัมปี สกินตาย 1 ตัว สัตว์ป่วยสงสัยจำนวนหลายตัว กระจายอยู่ในแต่ละฝูงแต่ละพื้นที่ อัตราการป่วยอยู่ที่ 4-45% โดยเฉพาะในลูกกระทิงที่ร่างกายอ่อนแอ มีความเสี่ยงสูง
ที่ผ่านมาส่งตรวจตัวอย่างทางห้องปฎิบัติการ พื้นที่แก่งกระจาน 2 ตัว เขาแผงม้า 6 ตัว ไม่พบสารพันธุกรรมของไวรัสลัมปี สกิน ส่วนกุยบุรี 3 ตัว พบผลบวก 1 ตัว อีก 1 ตัวไม่พบ และอีก 1 ตัวรอผล
อ่านข่าวเพิ่ม ผลแล็บชี้กระทิงกุยบุรี ติด "ลัมปี สกิน" ตาย 1 ตัว
ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
เติมคลังยารักษารักษาสัตว์ป่า
นายสัตวแพทย์ภัทรพล กล่าวว่า สำหรับการรักษาสัตว์เลี้ยงพบว่า เมื่อพบสัตว์ที่ป่วย หากได้รับการรักษาที่เหมาะสม อัตราการรอดชีวิตสูง ส่วนสัตว์ป่ามีการเติมแหล่งดินโป่ง ที่ประกอบด้วยแร่ธาตุต่างๆที่จำเป็นแก่สัตว์กินพืช และเพิ่มวิตามิน A D E และ Selenium เพื่อช่วยในการรักษาบาดแผล และเสริมภูมิคุ้มกัน ในพื้นที่แก่งกระจาน ได้เติมคลังยา เพื่อป้องกันและรักษาโรคลัมปี สกิน 3 จุด พบกระทิง ช้างป่าลงมาใช้
ส่วนกุยบุรี ได้เติมคลังยาทั้งหมด 12 แหล่ง จากการตรวจสอบภาพพบกระทิง 66 ตัว และวัวแดง 4 ตัว ที่สงสัยว่ามีร่องรอยโรคลัมปี สกิน ในกล้องถ่ายภาพจำนวน 12 จุด
ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
เล็งเก็บเลือด-ชิ้นเนื้อกระทิงตามรอยโรคลัมปี สกิน
นายสัตวแพทย์ภัทรพล กล่าวว่า หลังจากที่เติมดินโป่งไว้ 1 คืน พบกระทิงออกมาหากินแร่ธาตุ วิตามิน ถ่ายรูป และประเมินสุขภาพได้ง่าย มีบางตัวพบรอยโรคที่ไม่รุนแรง บริเวณสะโพกทั้ง 2 ข้าง ยังไม่พบการแพร่กระจาย หรือแตกของตุ่มรอยโรคที่เกิดขึ้นจะเป็นตุ่มนูนแข็งขนาด 2-5 ซม. และแตกเป็นแผล อาจตกสะเก็ด หรือติดเชื้อขึ้นมา
ทั้งนี้จากการประเมินระยะฟักตัวของโรคที่ 28 วัน หลายพื้นที่ยังไม่พบรายงานการพบซากสัตว์ตายในแต่ละพื้นที่ได้ติดตามความรุนแรงของรอยโรคที่เพิ่มขึ้นของสัตว์ การแพร่กระจายรอยโรคของสัตว์ในฝูงว่ามีเพิ่มขึ้นหรือไม่ รวมถึงจะได้มีการเตรียมแผนที่จะสำรวจโรคโรคลัมปี สกิน เชิงรุกด้วยการสุ่มเก็บตัวเลือด ตัวอย่างรอยแผลชิ้นเนื้อจากกระทิง เพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงและประกอบผลการสืบสวนโรค
ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
ติดตาม 2 วัวแดงห้วยขาแข้ง
ด้านนายเพิ่มศักดิ์ กนิษฐชาต หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง กล่าวว่า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบตำแหน่งการพบวัวแดง 2 ตัว ที่มีลักษณะอาการพบรอยโรคลัมปี สกิน พบว่าจุดที่เจอวัวแดง ห่างจากแนวเขตรักษาพันธุ์ 6 กม. บริเวณที่ถ่ายภาพ มีสภาพเป็นป่าเต็งรัง และเป็นแนวกันไฟ ซึ่งเป็นทางด่านที่สัตว์ป่าใช้เดินประจำ จึงจัดเจ้าหน้าที่จำนวน 2 ชุด ออกลาดตระเวนในพื้นที่รอบรัศมีที่เพื่อตรวจหาว่ามีวัวแดง และสัตว์ป่าชนิดอื่น ป่วย หรือนอนตายอยู่หรือไม่
ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
นอกจากนี้ยังให้เจ้าหน้าที่ด่านตรวจหน่วยพิทักษ์ป่าทุ่งแฝก ทำการพ่นยาฆ่าเชื้อ หรือแมลงบริเวณล้อรถที่จะเดินทางเข้ามายังสำนักงานเขต เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค รวมทั้งติดตั้งป้ายแจ้งเตือนห้ามนำสัตว์เลี้ยงเข้าไปเลี้ยงในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง พร้อมประสานและแลกเปลี่ยนข้อมูลการดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอลานสัก อำเภอห้วยคต และอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี เพื่อติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคลัมปิ สกิน อย่างใกล้ชิด
ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
อ่านข่าวที่เกียวข้อง
พบรอยโรค 2 กระทิงกุยบุรี สงสัยติดเชื้อ "ลัมปี สกิน"
รอผลแล็บ "กระทิงกุยบุรี" ตายจากลัมปี สกิน?
กล้องดักถ่ายติดภาพ "วัวแดง" ห้วยขาแข้ง 2 ตัวติดลัมปี สกิน
ด่วน! กรมอุทยานฯ ยอมรับ "วัวแดง" ห้วยขาแข้งติดลัมปี สกิน