ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดปม : มรดกหนี้มิยาซาวา

สังคม
28 ส.ค. 64
17:15
2,192
Logo Thai PBS
เปิดปม : มรดกหนี้มิยาซาวา
ผ่านมากว่า 20 ปี ความช่วยเหลือจากโครงการเงินกู้เพื่อปรับโครงสร้างภาคเกษตรงบกว่า 1,500 ล้านบาทจากโครงการเงินกู้มายาซาวา อาจกลายเป็นมรดกหนี้ที่นำไปสู่การล่มสลายของสหกรณ์หลายแห่ง

ที่มาโครงการ ASPL

ย้อนไปเมื่อปี 2542 คณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี อนุมัติให้กระทรวงการคลังกู้เงิน 53,000 ล้านบาท จากธนาคารพัฒนาเอเชียและกองทุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจโพ้นทะเลแห่งญี่ปุ่น ในโครงการเงินกู้มิยาซาวา เป้าหมายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศไทยหลังเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงิน หรือ วิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับงบประมาณ 1,538 ล้านบาท ดำเนินโครงการเงินกู้เพื่อปรับโครงสร้างภาคเกษตร หรือ ASPL สนับสนุนอุปกรณ์การตลาดรวม 360 รายการให้สหกรณ์การเกษตร 191 แห่งทั่วประเทศ เพื่อพัฒนาผลผลิตและเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร

 

สหกรณ์ฯ ที่รับการสนับสนุนอุปกรณ์ ต้องยอมรับเงื่อนไขว่าจะจ่ายเงินเข้ากองทุนพัฒนาสหกรณ์ หรือ กพส.พร้อมค่าธรรมเนียมร้อยละ 1 ต่อปี ภายในระยะเวลา 20 ปี รวมเป็นเงินที่ต้องจ่ายคืนทั้งสิ้น 9,381,008 บาท

โรงสี ขนาดกำลังผลิต 40 ตันต่อวัน จำนวน 68 โรง ราคาโรงละประมาณ 8,775,000 บาท คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 581 ล้านบาท คือ หนึ่งในอุปกรณ์การตลาดที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดหามาให้

หนี้เริ่มก่อตัว

เมื่อสหกรณ์หลายแห่งได้รับโรงสีมาแล้วกลับประสบปัญหาขาดทุนจากปัจจัยหลายประการ ทั้งขาดความรู้ในการบริหารจัดการโรงสีขนาดใหญ่ ขาดความรู้ในการหาตลาดรองรับสินค้า บางแห่งเมื่อใช้งานได้ไม่นานเครื่องจักรก็ได้รับความเสียหาย ขณะที่ บางแห่งมีปัญหาทุจริตภายในสหกรณ์ จึงไม่สามารถส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาสหกรณ์ได้ตามที่ทำสัญญาไว้

หนึ่งในสหกรณ์การเกษตรที่ประสบปัญหา คือ สหกรณ์การเกษตรท่าอุเทน จำกัด จ.นครพนม
ที่นี่ ได้รับการสนับสนุนโรงสีขนาดกำลังผลิต 40 ตันต่อวัน มูลค่าประมาณ 8,775,900 บาทจากโครงการ ASPL ในปี 2544 ภายใต้เงื่อนไขว่าต้องคืนเงินค่าโรงสีทั้งหมด พร้อมค่าธรรมเนียมร้อยละ 1 ต่อปี เข้ากองทุนพัฒนาสหกรณ์ภายในระยะเวลา 20 ปี ซึ่งครบกำหนดในปี 2564

 

นายเรืองชัย วงศ์อุระ ประธานสหกรณ์การเกษตรท่าอุเทน จำกัด ให้ข้อมูลว่า ในช่วงที่โรงสียังใช้งานได้ สหกรณ์ฯ เคยรวบรวมข้าวเปลือกจากสมาชิกเข้าโรงสีแต่ประสบปัญหาขาดทุนมาโดยตลอดเพราะไม่มีความรู้ด้านการจัดการโรงสี ประกอบกับการเดินเครื่องแต่ละครั้งมีค่าใช้จ่ายสูง ทั้งต้นทุนในการรวบรวมข้าววันละ 40 ตัน รวมถึงค่าไฟฟ้าในการเดินเครื่อง สหกรณ์การเกษตรท่าอุเทน จำกัด จึงประสบภาวะขาดทุนในช่วงปี 2546-2549 รวมกันกว่า 1 ล้าน 2 แสนบาท และไม่สามารถส่งเงินเข้ากองทุน กพส.ได้ตามสัญญา

 

โรงสีเป็นงานใหม่ของสหกรณ์ซึ่งรัฐบาลให้มา เราไม่มีบุคลากรที่มีความชำนาญ ต้องจ้างคนมาทำงานเกี่ยวกับระบบไฟฟ้า ระบบโรงสีและระบบการตลาดซึ่งค่าใช้จ่ายสูง ความสันทัดทางการค้าก็สู้กับภาคเอกชนไม่ได้ ตลอดเวลาบริหารกิจการโรงสีแห่งนี้ สหกรณ์ไม่มีกำไรจากธุรกิจโรงสีเลย

หลังจาก แบกรับการขาดทุนจากโรงสีในโครงการ ASPL มานานกว่า 5 ปี วันที่ 26 ก.ย. 2549 สหกรณ์การเกษตรท่าอุเทน จำกัด ทำเรื่องขอส่งคืนโรงสีคืนให้กรมส่งเสริมสหกรณ์

วันที่ 6 ต.ค. 2549 มีหนังสือชี้แจงจากสำนักงานสหกรณ์จังหวัดนครพนมกลับมาว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์ไม่มีนโยบายรับคืนโรงสี รวมถึงอุปกรณ์การตลาดอื่น ๆ ในโครงการ ASPL อย่างไรก็ตามสหกรณ์สามารถนำโรงสีไปขายหรือให้เช่าได้ แต่สหกรณ์ต้องดำเนินการจัดหาด้วยตัวเอง และ ผู้เช่าหรือรับซื้อต้องรับผิดชอบหนี้สินทั้งจำนวน

 

ขณะนี้  สหกรณ์การเกษตรท่าอุเทน จำกัด ได้รับหนังสือจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ ให้ยอมรับสภาพหนี้ที่เกิดจากโรงสี มูลค่า 8,775,900 บาท พร้อมค่าธรรมเนียม 492,144 บาท

ข้อมูลจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ ระบุว่า ปัจจุบันมีสหกรณ์ที่สามารถชำระเงินเข้ากองทุนจนครบแล้วทั้งหมด 127 แห่ง สามารถชำระได้ปกติ 16 แห่ง มีเงินคืนเข้ากองทุนแล้ว 1,111 ล้านบาท อย่างไรก็ตามยังมีสหกรณ์อีก 48 แห่งที่ไม่ชำระเงินตามข้อตกลง ในจำนวนนี้มี 23 แห่งที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดี

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ระบุว่า ที่ผ่านทางกรมฯ ดำเนินการผ่อนผันและปรับตารางการคืนเงินเข้ากองทุนพัฒนาสหกรณ์ ให้กับสหกรณ์ที่ค้างชำระหลายครั้ง ช่วยให้สหกรณ์หลายแห่งสามารถชำระเงินเข้ากองทุนได้สำเร็จ

 

ปี 2564 มีสหกรณ์ชำระเงินเข้ากองทุนจนครบแล้วทั้งหมด 127 แห่ง สามารถชำระได้ปกติ 16 แห่ง มีเงินคืนเข้ากองทุนแล้ว 1,111 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 กว่า 730 ล้านบาท อย่างไรก็ตามยังมีสหกรณ์อีก 48 แห่งที่ไม่ชำระเงินตามข้อตกลง ในจำนวนนี้มี 23 แห่งที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดี

 

ไม่สำเร็จมีอยู่ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นเงิน 400 ล้านบาทที่ยังเก็บไม่ได้ แต่ส่วนที่คิดว่าจะเสียหายจริง ๆ น่าจะประมาณ 200 ล้านบาท ที่ต้องตัดเป็นหนี้สูญ ซึ่งเราก็จะมีเหตุผลประกอบว่าส่วนที่สำเร็จมีมากกว่าที่ไม่สำเร็จ

วันที่ 5 มิ.ย. 2564 ตัวแทนสหกรณ์ 3 แห่งที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ ASPL ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตรนาแก จำกัด สหกรณ์การเกษตรธาตุพนม จำกัด และสหกรณ์การเกษตรท่าอุเทน จำกัด จ.นครพนม ทำหนังสือส่งถึงรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้สินของสหกรณ์อันเกิดจากโครงการ ASPL

ข่าวที่เกี่ยวข้อง