วันนี้ (4 ต.ค.2564) นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หรือหมอล็อต หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เล่าเสี้ยวนาทีชีวิต เหตุการณ์ช้างป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน จ.ฉะเชิงเทรา วิ่งเข้าหารถจักรยานยนต์
เหตุการณ์ก่อนหน้านั้น รถจักรยานยนต์ที่มีเสียงท่อดังและเปิดไฟ เข้ามาในระยะปลอดภัยของช้างป่า หรือระยะ 50 เมตร ช้างป่าจึงวิ่งเข้าหาเพื่อทำร้าย
เจ้าหน้าที่ต้องวิ่งเข้าหา ส่งเสียงตะโกนบอกให้ลงจากจักรยานยนต์ เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจช้างป่า พร้อมเตือนว่าอย่าเพิ่งยิงปืนขึ้นฟ้า เพราะช้างป่าหงุดหงิดกับเสียงและแสงไฟหน้ารถ
วินาทีนั้นผมได้ยินเสียงสไลด์ปืนลูกซอง เตรียมยิงขึ้นฟ้าเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจช้างป่า เป็นความปราถนาดี แต่เสียงปืนเป็นเสียงที่ดังมากเกินไป ทำให้ช้างป่าตกใจและเข้าทำร้ายคนได้
ช้าง "ตกมัน" ไม่น่ากลัวเท่าช้าง "ตกใจ"
ช้างป่าตัวดังกล่าวเป็นช้างเพศผู้ อายุกว่า 30 ปี ก่อนหน้านั้นพฤติกรรมยังปกติ น่ารัก ร่าเริง สดใส เดินอยู่ข้างทาง และมีความสุขมาก กระทั่งเสี้ยววินาทีที่พบสิ่งกระตุ้น ทำให้หงุดหงิด และเมื่อรถจักรยานยนต์ผ่านไป ช้างก็เดินปกติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
1.30 นาที ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็ว การวิ่งเข้าใส่รถเป็นพฤติกรรมเสี้ยววินาที ไม่เกี่ยวกับปลอกคอ แต่เป็นสิ่งกระตุ้น สิ่งเร้า ทำให้เขาหงุดหงิด อารมณ์เปลี่ยนเฉียบพลัน เป็นสิ่งที่เรากลัวที่สุด
สิ่งที่พยายามเน้นย้ำ คือ ช้างตกมันไม่น่ากลัวเท่ากับช้างตกใจ นายสัตวแพทย์ภัทรพล ขอความร่วมมือนักท่องเที่ยวปฏิบัติตามคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ชุดอารักขาช้างบนถนน หรือในกรณีช้างออกนอกพื้นที่ เพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว เจ้าหน้าที่ และช้างป่า
นอกจากนี้ ขอความร่วมมือทีมอาสาสมัครผลักดันช้างป่าอย่าใช้เสียงดัง หรือแสงแฟลตให้ช้างป่าตกใจ เพราะเมื่อช้างป่าเครียด หรือตกใจ จะเข้าไปหาวัตถุที่อยู่ในรัศมีปลอดภัยของช้าง คือ 50 เมตร เจ้าหน้าที่ก็จะทำงานยาก และอาจเป็นเหตุให้ช้างป่าทำร้ายนักท่องเที่ยว และเจ้าหน้าที่ที่อยู่ใกล้เคียงได้
"สิ่งที่กังวลที่สุด เกรงว่านักท่องเที่ยวมาแล้วเจอรถติด หรือเจอช้าง บางครั้งอยู่ไกล ๆ อยู่ไปบีบแตร ถ่ายรูป ส่งเสียงดัง ทำให้ช้างตกใจ เขาไม่ได้ทำคนที่ทำให้เกิดเสียง แต่จะทำคนที่อยู่ใกล้สุด คือ เจ้าหน้าที่ ไม่อยากให้เกิดความสูญเสียต่อบุคลากรที่มีคุณค่าในการดูแลรักษาสัตว์ป่า ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นมาอีก"
โอกาสเจอช้างป่ามากขึ้นช่วงปลายฝนต้นหนาว
นายสัตวแพทย์ภัทรพล กล่าวว่า ในช่วงปลายฝนต้นหนาว เดือน ต.ค.-ก.พ. จะเป็นช่วงที่ช้างป่าออกมามากกว่าปกติ เนื่องจากอาหารอุดมสมบูรณ์ ร่ายกายช้างสมบูรณ์แข็งแรง โดยเฉพาะช้างตัวผู้ที่ออกมาหาตัวเมียในฝูงเพื่อผสมพันธุ์ โชว์ศักยภาพ และเตรียมพร้อมในการต่อสู้กับช้างตัวอื่น ๆ
อีกทั้งช่วงปิดการท่องเที่ยวในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และอุทยานแห่งชาติ ทำให้สัตว์ป่า โดยเฉพาะช้างได้ใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าอย่างเต็มประสิทธิภาพนานหลายเดือนจนคุ้นเคย บางจุดจึงพบช้างออกมาให้เห็นมากขึ้น
อุทยานฯ หลายแห่ง เริ่มกลับมาเปิดการท่องเที่ยวในวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยมีการเตรียมความพร้อมด้านความปลอดภัย มาตรการป้องกัน COVID-19 จึงขอความร่วมมือของนักท่องเที่ยวปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด เพราะมีโอกาสพบช้างป่ามากขึ้น และสัตว์อาจไม่คุ้นชิน หลังเว้นช่วงจากการพบคนมาระยะหนึ่งแล้ว ขณะเดียวกันเป็นโอกาสดีที่นักท่องเที่ยวจะได้พบสัตว์ป่าและได้ศึกษาธรรมชาติ
10 ข้อปฏิบัติเมื่อเจอช้างป่า
- หยุดรถให้ห่างจากช้าง 30 เมตร และถอยรถรักษาระยะเมื่อช้างเข้าใกล้
- ติดเครื่องยนต์ไว้เสมอ
- เมื่อพบช้างในเวลากลางคืนให้เปิดไฟไว้เสมอห้ามเปิดไฟกระพริบ
- ไม่จอดรถและเข้าใกล้ช้างเด็ดขาด
- ประสาทสัมผัสของช้างที่ดีที่สุด คือ หู จมูก และตา ถ้าดับเครื่องยนต์ ช้างจะเข้าใกล้เพื่อใช้ประสาทสัมผัสอย่างอื่น นั่นก็คือการดม ดู และการสัมผัส
- เมื่อรถคันหน้าถอยหลัง รถคันถัดไปควรเคลื่อนตามเพื่ออำนวยความสะดวกในสถานการณ์ฉุกเฉิน
- หากตกอยู่ในวงล้อมของช้างให้เคลื่อนรถไปในทางที่มีช้างอยู่น้อย
- ไม่จอดรถดูช้าง
- อย่าใช้แตรรถหรือส่งเสียงดัง
- งดใช้แฟลชถ่ายรูป
ข้อควรปฏิบัติสำคัญ คือ ห้ามจอดรถเพื่อถ่ายรูปเด็ดขาด เพราะจะเป็นอันตรายต่อนักท่องเที่ยวเองและก่อเกิดความเสียหายกับรถยนต์ของนักท่องเที่ยว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
พลิกโฉมคุม "ช้างป่า" เล็งทำหมัน-ติดปลอกคอคุมเร่ร่อน
10 ข้อปฏิบัติเมื่อเจอ "พี่ดื้อ" ช้างป่าเขาใหญ่และผองเพื่อน
คุยกับ "สุทธิพร" เจ้าของฉายาชายผู้สื่อสารกับช้างเขาใหญ่