ข้อมูลใน Pandora Papers ถูกนำมาตีแผ่ โดยเครือข่ายผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนระหว่างประเทศ หรือ ICIJ ซึ่งมีผู้สื่อข่าว 600 คนจากองค์กรข่าว 150 แห่งใน 117 ประเทศตรวจสอบข้อมูล ซึ่งข้อมูลที่ปรากฏในฐานข้อมูล มีตั้งแต่เอกสารการแจ้งภาษี ใบสำคัญรับเงิน PowerPoint อีเมลติดต่อ บันทึกรายชื่อผู้อำนวยการและผู้ถือหุ้นบริษัท ใบเสร็จและรูปภาพต่างๆ
Pandora Papers เป็นเอกสารจากฐานข้อมูลของบริษัทรับจดทะเบียนและดูแลบริษัทนอกอาณาเขต 14 แห่ง ประกอบด้วย ไฟล์แสดงข้อมูลทางการเงินของลูกค้าทั่วโลกกว่า 11.9 ล้านไฟล์ ความจุรวม 2.9 เทราไบต์ ถือเป็นขนาดข้อมูลที่ใหญ่ที่สุดในโลกเท่าที่เคยรั่วไหลถึงมือสื่อมวลชน และใหญ่กว่าฐานข้อมูลของ Panama Papers เมื่อปี 2016
บริษัท 14 แห่งตั้งอยู่ในประเทศและดินแดน ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม สิงคโปร์ หมู่เกาะเซเชลส์ สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และหมู่เกาะในแคริบเบียน ฐานข้อมูลแสดงให้เห็นเส้นทางการเงินของผู้นำประเทศในอดีตและปัจจุบัน 35 คน รวมทั้งนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐอีกกว่า 330 คนจาก 91 ประเทศทั่วโลก นอกจากนี้ยังพบนักแสดง นักร้อง ผู้กำกับภาพยนตร์ นักกีฬา นางแบบชื่อดังและนักธุรกิจใหญ่ ในจำนวนนี้มีตระกูลเศรษฐีไทยอย่างน้อย 6 ตระกูลรวมอยู่ด้วย
แฉข้อมูลการเงินลับผู้นำโลก-นักการเมือง
ข้อมูลส่วนหนึ่งในเอกสารฉบับดังกล่าว เปิดเผยว่า สมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลลาห์ที่ 2 แห่งจอร์แดน ทรงครอบครองอสังหาริมทรัพย์ในอังกฤษและสหรัฐฯ มูลค่าไม่ต่ำกว่า 70 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 3,000 ล้านบาท ซึ่งทนายความของสมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลลาห์ ชี้แจงว่า พระองค์ทรงซื้ออสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
โทนี แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ และภริยา เลี่ยงจ่ายอากรแสตมป์ในการซื้อสำนักงานในกรุงลอนดอน ด้วยการซื้อบริษัทนอกอาณาเขตในหมู่เกาะบริติช เวอร์จิน ที่เป็นเจ้าของอาคารนี้ ขณะที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน มีความเชื่อมโยงกับอสังหาริมทรัพย์ในโมนาโค เจ้าของเป็นผู้หญิงรัสเซียที่เคยมีความสัมพันธ์กับผู้นำรัสเซีย มานานหลายปี
"บริษัทนอกอาณาเขต" อาวุธใหญ่ทุนนิยม
ประเทศหรือพื้นที่นอกอาณาเขต เป็นจุดที่มีกฎหมายคุ้มครองบริษัทนิติบุคคลหรือชาวต่างชาติที่จดทะเบียนและเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราต่ำ หรืออาจไม่เก็บภาษี แม้ว่าการเป็นเจ้าของบริษัทนอกอาณาเขตไม่ใช่การกระทำผิดกฎหมาย แต่กฏหมายในการคุ้มครองบริษัทอาจนำไปสู่การทุจริต เลี่ยงภาษีและการฟอกเงิน
การใช้บริการบริษัทแบบนี้ได้รับความนิยมในกลุ่มนักธุรกิจ เพื่อความปลอดภัยจากอาชญากรรมและความคล่องตัวในการทำธุรกรรมทางการเงินข้ามพรมแดน
"ปรางค์ทิพย์ ดาวเรือง" ผู้สื่อข่าวเครือข่าย ICIJ ประจำประเทศไทย วิเคราะห์ความเป็นไปได้ของการแก้ปัญหาการใช้บริษัทนอกอาณาเขตในทางไม่ชอบ โดยระบุว่า ผู้ที่ถือครองบริษัทนอกอาณาเขตต่างๆ ไม่ได้มีเฉพาะนักธุรกิจ แต่มีทั้งนักการเมือง มาเฟีย อาชญากรและอื่นๆ ที่มีความประสงค์ที่จะปกปิดข้อมูลของตัวเอง ขณะที่กลไกเหล่านี้ยังไม่มีเปลี่ยนแปลง เพราะยังไม่มีการล็อบบี้ในระดับนานาชาติที่มากพอที่จะมีผลกระทบถึงการแก้ไขกฎหมายในพื้นที่พิเศษเหล่านี้
เวลาพูดถึงทุนนิยม ระบบทุนนิยมของโลก เราจะพูดถึงธนาคาร ตลาดหุ้น เทรดดิ้ง หรือการค้าต่างๆ แต่เรื่องบริษัทนอกอาณาเขตไม่มีใครพูดถึง รวมทั้งสื่อมวลชนด้วย ยกเว้นโครงการใน ICIJ ที่ค่อยๆ ออกมา มันเป็นจิ๊กซอร์ตัวใหญ่ เป็นอาวุธอันใหญ่ของทุนนิยมที่จะสร้างความมั่งคั่งให้คนบางกลุ่ม
การขยับตัวของ ICIJ ในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญอีกก้าวหนึ่ง ของการสร้างความตระหนักเกี่ยวกับบทบาทของบริษัทนอกอาณาเขตให้เป็นที่รู้จักในสังคมมากขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"แพนดอรา เปเปอร์ส" แฉข้อมูลการเงินลับผู้นำโลก-นักการเมือง