วันนี้ (14 ต.ค.2564) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย เปิดเผยภายหลังจากหารือกับ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า วันนี้ได้ประชุมร่วมกัน จะเป็นผู้จัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เพื่อเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญที่ได้ทูลเกล้าฯ ถวายขึ้นไปแล้ว อย่างน้อยที่สุด คือ 1 ฉบับ คือกฎหมายเลือกตั้ง ส่วนกฎหมายพรรคการเมืองได้ดูแล้ว ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไข
โดยจะมีการขอความเห็นจาก กกต.ชุดใหญ่ ทั้ง 5 คนอีกครั้งว่าจะสรุปอย่างไร หาก กกต.ชุดใหญ่ เห็นควรให้แก้พร้อมกันทั้ง 2 ฉบับก็ให้เสนอมา แต่ถ้าเห็นว่าเอาแต่เฉพาะที่เร่งด่วนที่เกี่ยวข้องกับแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะมีแค่ฉบับเดียว
ซึ่งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ขณะนี้สำนักงาน กกต.ได้ยกร่างขึ้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว มีประมาณ 30 มาตรา เป็นเรื่องของบัตร 2 ใบ และวิธีการนับคะแนน ซึ่งส่วนตัวยังไม่ได้เห็นว่ามีวิธีการนับคะแนนอย่างไร เนื่องจากต้องนำเสนอให้ กกต.ชุดใหญ่ พิจารณาก่อน เมื่อ กกต.ใหญ่ เห็นชอบก็จะต้องรับฟังความเห็นส่วนกลาง คือฟังจากพรรคการเมือง และฟังจากประชาชน
จากนั้นจะส่งร่างดังกล่าวไปให้ กกต.จังหวัด เพื่อแต่ละจังหวัดรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่อีกครั้งแล้วรวบรวมความเห็นกลับเข้ามาที่ส่วนกลาง เพื่อปรับปรุงและนำเสนอคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 131 เมื่อ ครม.เห็นชอบก็จะส่งให้กฤษฎีกาดูอีกครั้ง ก่อนจะเตรียมส่งรัฐสภาพิจารณาต่อไป แต่ขณะนี้ยังไม่ส่งให้สภา เพราะยังไม่มีการลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้รัฐธรรมนูญในราชกิจจานุเบกษา
ส่วนการส่งระบบบัญชีรายชื่อตามมาตรา 90 จะส่งผลให้เกิดระบบเบอร์เดียวทั่วประเทศหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่เกี่ยวกัน เนื่องจากเรื่องนี้อยู่ในกฎหมายพรรคการเมืองที่จะมีการแก้หรือไม่ขณะนี้ยังไม่รู้ แต่หากว่า กกต.ชุดใหญ่ เห็นว่าเป็นปัญหาอาจจะแก้ไปพร้อมกันด้วยก็ได้
แต่หาก กกต.ชุดใหญ่ มองว่ายังไม่เป็นปัญหาก็อาจจะยังไม่แก้ไข ซึ่งการแก้กฎหมายพรรคการเมืองถือว่ามีประโยชน์อยู่ เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ เพราะเกี่ยวกับการทำไพรมารีโหวต หากมีการเกิดการเลือกตั้งขึ้นเร็ว หากเกิดกะทันหันปุบปับขึ้นมา อาจจะเตรียมการไม่ทัน แต่ก็รอให้ กกต.ชุดใหญ่ พิจารณาก่อน ซึ่งระหว่างที่ยังไม่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ระหว่างนี้ผู้รับผิดชอบสามารถทำงานเตรียมการไปพลางๆ ก่อนได้
นายวิษณุ กล่าวว่า เมื่อถึงวาระการพิจารณาในสภาจะใช้เวลา 180 วัน หรือ 6 เดือนที่ทั้ง 2 สภา จะพิจารณาให้แล้วเสร็จจากนั้นจะส่งกลับไปให้ กกต.ดูอีกภายใน 15 วัน และ กกต.จะต้องตอบมาภายใน 10 วัน จากนั้นส่งให้รัฐสภา เมื่อดำเนินการแก้ไขภายใน 30 วันเสร็จสิ้นจะเป็นขั้นตอนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป
อ่านข่าวเพิ่มเติม
นายกฯ นับถอยหลัง 2 สัปดาห์เปิดประเทศ ขอทุกฝ่ายร่วมมือให้ทันเวลา
ม็อบ "ทะลุแก๊ส" นัดรวมตัวที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
ต้นสังกัดแจ้ง "ดาวอน - ฮวียอง" วง SF9 ติด COVID-19
วธ.ยันร่วมกฐินพระราชทาน ฉีดวัคซีนยี่ห้อไหนก็ได้ที่ อย.-WHO รับรอง