เทคโนโลยีขาเทียมที่สามารถช่วยให้คนพิการขาสามารถกลับมาเดินได้ถูกพัฒนาขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ลักษณะท่าทางการเดินของคนพิการยังไม่ดูเป็นธรรมชาติ
ล่าสุดมหาวิทยาลัยยูทาห์ ในประเทศสหรัฐอเมริกา พัฒนาขาหุ่นยนต์รุ่นใหม่ล่าสุด Exoskeleton ขาหุ่นยนต์ที่ช่วยให้คนพิการขาสามารถเดินได้เกือบเหมือนลักษณะการเดินปกติของมนุษย์ โดยทำการติดตั้งระบบวิเคราะห์การเดินของคนพิการขาแต่ละคน เพื่อกำหนดการทำงานของขาหุ่นยนต์
ความคืบหน้าการพัฒนาเทคโนโลยีขาหุ่นยนต์ Exoskeleton ถูกเผยแพร่ลงในวารสารวิทยาศาสตร์ด้านการแพทย์ Nature Medicince ฉบับวันที่ 11 ต.ค.ที่ผ่านมา คนพิการที่สวมใส่ขาหุ่นยนต์ สามารถเดินได้เกือบเหมือนลักษณะการเดินปกติ โดยไม่จำเป็นต้องออกแรงในการเดินที่มากเกินไป หรือรู้สึกเจ็บปวด บริเวณจุดเชื่อมต่อระหว่างขาหุ่นยนต์กับร่างกายของคนพิการ ซึ่งสามารถช่วยให้คนพิการสามารถดำเนินชีวิตในสังคมสะดวกมากขึ้น
ขาหุ่นยนต์ Exoskeleton ถูกติดตั้งเข้ากับร่างกายของคนพิการ ตั้งแต่บริเวณเอวลงไปยังต้นขา ระบบเซ็นเซอร์เชื่อมต่อการทำงานเข้ากับกล้ามเนื้อคนพิการ มอเตอร์ไฟฟ้าช่วยในการเสริมแรงในระหว่างการเดิน
การทำงานทั้งหมดถูกวิเคราะห์และประมวลผลด้วยระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อให้จังหวะการเดินมีความถูกต้อง และดูเป็นธรรมชาติมากที่สุด ทีมงานนักพัฒนาต้องการให้ผู้สวมใส่ขาหุ่นยนต์มีความรู้สึกเหมือนกล้ามเนื้อถูกเชื่อมต่อเข้ากับขาหุ่นยนต์ โดยไม่รู้สึกเจ็บปวดทรมาน
ปัจจุบันทีมงานพัฒนาขาหุ่นยนต์ Exoskeleton ได้ทำการทดสอบกับคนพิการขาประมาณ 6 คน ที่มีระดับของความพิการขาแตกต่างกัน เพื่อศึกษาและพัฒนาเพิ่มเติม
การพัฒนาขาหุ่นยนต์ในครั้งนี้เป็นเพียงการพัฒนาเทคโนโลยี โดยมหาวิทยาลัยยังไม่มีแผนการที่จะพัฒนา เพื่อจัดจำหน่ายให้บุคคลทั่วไป อาจต้องรอการถ่ายทอดเทคโนโลยีขาหุ่นยนต์ไปยังบริษัทเอกชน หรือหน่วยงานราชการพัฒนาเป็นขาหุ่นยนต์ที่พร้อมใช้งานในจำนวนมาก ๆ สำหรับคนพิการขาในประเทศ
ที่มา: Futurism
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech