วันนี้ (17 ต.ค.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อาจารย์บรูซ แกสตัน ศิลปินชาวอเมริกัน ซึ่งพำนักอยู่ในประเทศไทยมานานกว่า 50 ปี ผู้ก่อตั้งวงฟองน้ำ และปฏิวัติดนตรีไทยร่วมสมัย จนได้รับการยกย่องจากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม รับรางวัลศิลปาธรกิตติคุณ สาขาคีตศิลป์ ประจำปี พ.ศ.2552 โดยเป็นชาวต่างชาติเพียงคนเดียวที่ได้รับรางวัลนี้
อาจารย์บรูซป่วยกระทันหันเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเมื่อปี 2660 และพักรักษาตัวเรื่อยมา กระทั่งถึงแก่กรรมเมื่อเช้าวันนี้
เว็บไซต์ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน บันทึกประวัติของ อาจารย์บรูซ แกสตัน ไว้ดังนี้
บรูซ เกิดเมื่อปี พ.ศ.2490 ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่รักในเสียงดนตรี ได้รับการบ่มเพาะให้เล่นดนตรีตั้งแต่อายุ 3 ขวบ เมื่อเติบโตจึงมีความถนัดในเครื่องเปียโน, ออร์แกน และวิชาขับร้องประสานเสียง
เมื่อเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยเซาท์เทิร์นแคลิฟอร์เนีย บรูซ เลือกเรียนสาขาวิชาที่ถนัดคือ ทฤษฎีดนตรี การประพันธ์เพลง และปรัชญา จบปริญญาโทในปี 1969 ด้วยอายุเพียง 20 ต้นๆ ซึ่งตรงกับยุคสมัยของสงครามเวียดนามท่ามกลางความขัดแย้งทั้งต่อต้าน และเรียกร้องให้คนหนุ่มสาวชาวอเมริกันเข้าสู่สงคราม บรูซ เลือกที่จะย้ายตัวเองมาเป็นครูสอนดนตรีในประเทศไทยเพื่อช่วยเหลือผู้คนในแนวทางที่เขาถนัดและไม่ต้องทำร้ายใคร
ในปี พ.ศ.2514 บรูซ เป็นครูสอนดนตรีที่จังหวัดพิษณุโลก ทุ่มเทแรงกายให้กับเด็กๆ วัยประถมในโรงเรียนผดุงราษฎร์ ในยุคสมัยนั้นแม้จะเป็นโรงเรียนในความดูแลของคริสตจักร แต่ก็นับว่ายังลำบากอยู่มากในยุคแรกเริ่ม เด็กๆ วงโยธวาทิตของบรูซ เรียกได้ว่าไม่มีรองเท้าใส่สำหรับการเดินพาเหรด
แม้จะเหนือกว่าด้วยฝีมือ แต่ก็ไม่อาจชนะรางวัลใดๆ แต่ความภูมิใจก็คือทำให้เด็ก ๆ ได้มีวิชาดนตรีติดตัวจากครูฝรั่งผู้ทุ่มเทให้ตลอดระยะเวลา 6 เดือน
หลังจากนั้นบรูซ ย้ายไปสอนดนตรีให้กับวิทยาลัยพายัพ ใน จ.เชียงใหม่ และได้เปิดหลักสูตรดนตรีระดับปริญญาตรี และกลายเป็นอาจารย์สอนดนตรีรุ่นแรกโดยปริยาย
เป็นโชคชะตาที่น่าประหลาดเมื่อหอพักครูวิทยาลัยพายัพ อยู่ติดกับป่าช้า บรูซเคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับประสบการณ์ของการได้ยินเสียงดนตรีปี่พาทย์นางหงส์ ที่ได้ยินทุกวัน จากงานเผาศพในป่าช้าใกล้เคียง จนกลายเป็นความสนใจ และพบในภายหลังว่านักดนตรีนั้น เป็นเพียงเด็กอายุ 10 ขวบ
กลายเป็นจุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจให้บรูซ เริ่มทดลองเรียนดนตรีไทยกับชาวบ้านในละแวกและ เริ่มสนใจพุทธศาสนา แม้จะต้องกลับบ้านที่อเมริกาหลังจากสอนดนตรีอยู่สองปีก็พบว่าเสียงดนตรีไทยได้เรียกร้องให้เขาต้องกลับมาดำเนินชีวิตต่อที่ประเทศไทย
ชีวิตหลังจากนั้น บรูซเริ่มดำดิ่งสู่เสียงดนตรีล้านนา และดนตรีของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ กระทั่งกรมศิลปากรเปิดวิทยาลัยนาฏศิลปวิทยาเขตเชียงใหม่ทำให้บรูซได้หัดระนาดเอกกับครูสิริชัยชาญ ฟักจำรูญ และหัดปี่พาทย์รอบวงจากครูโสภณ ซื่อต่อชาติ อดีตศิษย์เอกครูหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)
และช่วงเวลาสำคัญได้เกิดขึ้นเมื่อเกิดการทดลองประยุกต์ดนตรีไทย เข้ากับดนตรีสากล ด้วยความสามารถดั้งเดิมในการประพันธ์เพลง บรูซเริ่มทำอุปรากรเรื่อง “ชูชก” ด้วยการพัฒนาขึ้นมาจากวรรณคดีชาดกทศชาติ ตอนพระเวสสันดร โดยใช้วิธีขับร้องประสานเสียงร่วมกับวงดนตรีปี่พาทย์ กังสดาล และการออกแบบประติมากรรมขนาดใหญ่รูปชูชกกินจนท้องแตก
ต่อมาชีวิตของบรูซก้าวเข้าสู่วงการดนตรีไทยอย่างเต็มตัว เมื่อพบกับ “ครูบุญยงค์ เกตุคง” นักระนาดชั้นเยี่ยมผู้แต่งเพลง “ชเวดากอง” ทำให้บรูซ เดินทางมาฝากตัวเป็นลูกศิษย์ในวงดนตรีไทยเทศบาลกรุงเทพ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการผสมผสานสองวัฒนธรรมดนตรี ระหว่างดนตรีแบบตะวันตกที่ใช้ระบบตัวโน๊ตในการถ่ายทอด กับการเรียนดนตรีแบบไทย ที่ต้องมีครูต่อเพลงแบบตัวต่อตัว เป็นการเรียนรู้แบบประสมประสาน ประยุกต์ให้ดนตรีไทยวิวัฒนาการตัวเองในขณะที่ยังคงไว้ซึ่งเสน่ห์และความสง่างามในท่วงทำนอง
ขอบคุณภาพจากเว็บไซต์ www.siammanussati.com
การทุ่มเทฝึกฝนดนตรีไทยกับครูบุญยงค์ ไม่ว่าจะเพลงหน้าพาทย์พิธีกรรมเพลงประโคม เพลงหมู่ เพลงเดี่ยว โดยเฉพาะปี่พาทย์และระนาดเอก ครูบุญยงค์ ได้ฝึกฝนการเล่นเครื่องดนตรีไทยให้กับศิษย์ต่างชาติอย่างเต็มที่ ประกอบกับการศึกษาองค์ความรู้จากบรมครูทางดนตรีในประวัติศาสตร์ที่เป็นแม่แบบความรู้ในเชิงทฤษฎีดนตรีไทย คือ ครูมนตรี ตราโมท
ในขณะที่บรูซก็ยังไม่ทิ้งองค์ความรู้จากครูดนตรีสมัยใหม่ของอเมริกาอย่าง ชาร์ล ไอวฟ์ (Charles Ives) ผู้นำเสียงรอบๆ ตัวผสมผสานกับบทประพันธ์ดนตรี และ จอห์น เคจ (John Cage) นักประพันธ์เพลงหัวก้าวหน้าผู้ทรงอิทธิพลกับการประพันธ์เพลงในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นำไปสู่การผสมผสาน กลายเป็น “ดนตรีไทยร่วมสมัย” ในเวลาต่อมา
บรูซกับครูบุญยงค์ ร่วมกันก่อตั้ง “วงฟองน้ำ” ขึ้นในราวปี พ.ศ. 2524 มีสมาชิกร่วมก่อตั้งคือ จิรพรรณ อังศวานนท์ ซึ่งต่อมาได้มีนักดนตรีไทยและนักดนตรีสากล ที่มีพื้นฐานทางดนตรีหลากหลายแขนงมารวมกันอยู่จำนวนมากวงฟองน้ำได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับวงการดนตรีไทย ด้วยการประยุกต์เรียบเรียงใหม่ให้ดนตรีไทยสามารถขึ้นแสดงงานดนตรี นำ ไปเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ ประกอบละคร วางโครงสร้างทางดนตรีไทยให้สามารถสร้างสรรค์ร่วมกับศิลปินระดับโลกได้ เกิดดนตรีสำเนียงใหม่ที่เริ่มคุ้นหูคนไทยและได้รับการยอมรับในวงกว้าง
ไม่ว่าจะด้วยโครงสร้างของเพลงไทยที่ไม่ตายตัว มีการด้นสด (improvisation) ในแบบที่ดนตรีสากลปัจจุบันมี ทำให้นักดนตรีไทยสามารถพลิกแพลงให้บทเพลงเข้ากับบุคลิกลักษณะของผู้บรรเลงได้ไม่ยาก
ขอบคุณภาพจากเว็บไซต์ www.siammanussati.com
แต่อย่างไรก็ตามสำหรับ บรูซ ความเข้าใจในโครงสร้างเพลง ยังเป็นขนบที่เคร่งครัดไม่ว่าจะเป็นดนตรีไทยหรือดนตรีสากล การประยุกต์จึงจำเป็นที่ต้องมีรูปแบบ เป็นขั้นเป็นตอน ที่สำคัญดนตรีไทยเกิดจากการประพันธ์ด้วยความคิดที่ลึกซึ้ง ละเอียดอ่อน จากความเข้าใจระดับปรัชญาจึงไม่แปลกนักหากบรูซจะกลายเป็นนักประพันธ์เพลงไทยอย่างเต็มตัวในเวลาต่อมา
ปัจจุบันผ่านมาสี่สิบกว่าปีที่บรูซ คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงดนตรี เขาสมรสกับผศ.สารภี แกสตัน อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีบุตรชายคือ ธีรดล ธีโอดอร์ แกสตัน (เท็ดดี้) มือกีตาร์วงฟลัวร์
และมีลูกศิษย์ที่สำคัญอย่าง ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร, ไกวัล กุลวัฒโนทัย, อานันท์ นาคคง, จิระเดช เสตะพันธุ, บุญรัตน์ ศิริรัตนพันธ, วาณิช โปตะวณิช, ดำริห์ บรรณวิทยกิจ ฯลฯ
และเคยฝากผลงานมากมายไว้ ในช่วงเวลาที่เป็นอาจารย์สอนวิชาดนตรีการละครในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีผลงานเพลงประกอบละครสำคัญๆ ไว้หลายชิ้นด้วยกัน เช่น พรายน้ำ คนดีที่เสฉวน อีดีปุสจอมราชันย์ แม่ค้า สงคราม ฯลฯ ก่อนที่จะลาออกจากอาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัย เพื่อดำเนินชีวิตเป็นศิลปินอิสระร่วมพัฒนางานดนตรีสร้างสรรค์กับวงฟองน้ำ
บรูซเคยฝากผลงานการประพันธ์ที่สำคัญอย่างเพลง “เจ้าพระยาคอนแชร์โต” ในปี พ.ศ. 2525 ในงานฉลองกรุงเทพมหานครอายุครบ 200 ปี นำเสนอมิติของดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีไทย ดนตรีไฟฟ้า ที่จัดวางเสียง จังหวะ ในพื้นที่และเวลาที่แตกต่างกัน ประพันธ์เพลง “อาหนู” สำหรับ Prepared Piano ระนาดทุ้ม และดนตรีไฟฟ้า แสดงในงานรำลึกจอห์น เคจ ณ เมืองนิวยอร์คในปี พ.ศ.2525
รวมถึงการนำวงดนตรีฟองน้ำเข้าร่วมเทศกาลมหกรรมดนตรีราชสำนัก ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในปี พ.ศ.2530 ซึ่งเป็นการเดินทางครั้งสำคัญของครูดนตรีอาวุโสของไทยไปร่วมกันนำเสนอบทบาทหน้าที่ของดนตรีไทยในระบบบอุปถัมภ์ของราชสำนัก ซึ่งมีผลอย่างยิ่งต่อการพัฒนาดนตรีไทยในรอบหลายร้อยปีที่ผ่านมา รวมถึงการประพันธ์เพลง “Thailand the golden Paradise” ในปี พ.ศ. 2530 เพื่อเฉลิมฉลองปีท่องเที่ยวไทย และถือเป็นเพลงหลักในการประชาสัมพันธ์ประเทศไทยทั่วโลกนับแต่นั้นมา
นอกจากนี้ยังมีผลงานสร้างสรรค์สำคัญๆ อีกจำนวนมาก ที่พิสูจน์ให้เห็นว่า บรูซ แกสตัน คือ นักดนตรีต่างชาติหัวใจไทย ผู้มีความสามารถชั้นสูงในการผสานคุณค่าของดนตรีไทยและองค์ความรู้แบบดนตรีตะวันตก เป็นหนึ่งในเส้นทางสำคัญของการอนุรักษ์ด้วยการทำให้เติบโต พัฒนา ที่สำคัญคือการทำให้ประจักษ์ว่าความเป็นไทยสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามยุคสมัย โดยที่ยังสามารถรักษารากเหง้าของตัวเองไว้ได้อย่างครบถ้วน ให้ท่วงทำนองของไทยบรรเลงอยู่บนเวทีระดับโลกอย่างน่าภาคภูมิใจ