กรณีประชาชนร้องเรียนว่าถูกมิจฉาชีพข้าถึงข้อมูลส่วนตัวบัญชีธนาคาร บัตรเดบิต โดยจะทำการหักเงินออกจากบัตรเดบิตผ่านเครื่อง EDC หรือเครื่องรูดบัตร แต่ไม่มี SMS แจ้งเตือนไปยังเจ้าของบัตรพบมีการถอนเงินออกจำนวนหลายครั้ง แต่ละครั้งจะถอนเงินจำนวนไม่มาก
วันนี้ (18 ต.ค.2564) พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า แนะนำให้ผู้เสียหายแจ้งไปยังธนาคารเพื่อทำการอายัดบัตร และปฎิเสธการชำระเงินค่าบริการทางออนไลน์ และทำการตรวจสอบรายการเดินบัญชี รวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้อง โดยให้แจ้งความกับพนัก งานสอบสวนในทุกพื้นที่ใกล้บ้าน เพื่อทำการสืบสวนสอบสวน พิสูจน์ทราบถึงตัวผู้กระทำความผิดและนำตัวมาดำเนินคดีตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
การกระทำดังกล่าว เข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 269/5 ผู้ใดใช้บัตรอิเล็ก ทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือความผิดตามกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ขอแนะนำแนวทางการป้องกัน กรณีที่คนร้ายได้ข้อมูลที่อยู่ด้านหน้าบัตรและตัวเลขรหัส 3 ตัวที่อยู่ด้านหลังบัตร คนร้ายจึงสามารถนำไปใช้ทำธุรกรรมผ่านทางออนไลน์ ที่มีมูลค่าไม่สูงได้ โดยไม่ต้องใช้ OTP
นอกจากนี้ประชาชนควรนำแผ่นสติ๊กเกอร์ทึบแสงปิดรหัส 3 ตัวด้านหลังบัตร หรือจดรหัส 3 ตัวดังกล่าวเก็บเอาไว้ แล้วใช้กระดาษทรายลบตัวเลขรหัสดังกล่าวออกจากด้านหลังบัตร เพื่อความปลอดภัยในการใช้จ่ายประจำวัน และป้องกันมิจฉาชีพ มิให้แอบถ่ายรูปด้านหน้าและหลังบัตรเพื่อนำไปใช้จ่ายในโลกออนไลน์
ทั้งนี้ประชาชนที่พบเห็นเบาะแสการกระทำความผิด สามารถแจ้งไปยัง Call Center สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หมายเลขโทรศัพท์ 191 หรือ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
อย่างไรก็ตาม แบงก์ชาติและสมาคมธนาคารไทย ออกมาแถลงร่วมกันแล้วว่าว่า กรณีดังกล่าวไม่ใช่แอปฯดูดเงิน และข้อมูลธนาคารไม่มีการรั่วไหล เบื้องต้นพบเป็นรายการที่เกิดจากการทำธุรกรรมชำระค่าสินค้าและบริการกับร้านค้าออนไลน์ ที่จดทะเบียนในต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ได้ระงับการใช้บัตรที่มีรายการผิดปกติ พร้อมเร่งคืนเงินลูกค้าที่ได้รับความเสียหาย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
นายกฯ สั่งตรวจสอบแล้ว ดูดเงินออกจากบัญชีปริศนา!
ธปท.ชี้แจงเงินหายจากบัญชี เกิดจากทำธุรกรรมในต่างประเทศ