วันนี้ (11 พ.ย.2564) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.กระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการเลี้ยงสุนัขเพื่อพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังว่า โครงการเลี้ยงสุนัขเพื่อบำบัดจิตใจผู้ต้องขัง (DOG THERAPY) สามารถช่วยบำบัดขัดเกลาจิตใจ และปลูกฝังให้ผู้ต้องขังมีความอ่อนโยนมากขึ้น ซึ่งผลพลอยได้จากโครงการดังกล่าวยังช่วยให้ผู้ต้องขังเหล่านี้มีอาชีพหลังพ้นโทษอีกด้วย เช่น เป็นผู้ช่วยสัตวแพทย์ เปิดรับจ้างตัดขน เล็บ สุนัข
จะนำร่องในเรือนจำ จ.นครราชสีมา เรือนจำกลางระยอง เรือนจำกลางคลองไผ่ เรือนจำกลางเขาบิน หลังจากนี้กรมราชทัณฑ์ เตรียมทำ MOU ร่วมกับสมาคมเลี้ยงสุนัขด้วย
ส่วนสุนัขที่จะนำเข้าร่วมโครงการนำร่องนั้น จะถูกนำมาจากศูนย์พักพิงเป็นหลัก ที่ผ่านมามีการจัดซื้อพันธุ์สุนัข เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณ โดยจะมีการคัดสายพันธุ์สุนัขบางประเภทเท่านั้น เพื่อให้เข้ากับลักษณะของผู้ต้องขัง ก่อนจะมีการประเมินผล วัดผลตามหลักวิชาการอย่างเป็นระบบ จากนั้นถึงจะขยายผลไปยังเรือนจำทั่วประเทศในอนาคตต่อไป
มั่นใจว่าโครงการดังกล่าวเป็นประโยชน์แก่ผู้ต้องขัง ในอเมริกาก็มีการใช้สุนัขช่วยผู้พิการต่างๆ หรือแม้กระทั่งเอาไว้ใช้ดูแลผู้สูงอายุอีกด้วย จะเน้นกลุ่มผู้ต้องขังเฉพาะที่ผิดวินัยซ้ำซาก ผู้ป่วยจิตเวช และผู้ต้องขังสูงอายุ เพื่อเป็นการบำบัดจิตใจด้วย
ภาพ:กระทรวงยุติธรรม
งานวิจัยสัตว์เลี้ยงบำบัดจิตใจได้
ไทยพีบีเอสออนไลน์ ตรวจสอบข้อมูลงานวิจัยเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงบำบัด ซึ่งกรมสุขภาพจิต เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 13 พ.ค.2562 โดยอ้างอิงรายงานการศึกษาของ E. Paul Chemiack และคณะ จากสถาบันผู้สูงอายุ โรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยไมอามีมิลเลอร์ รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ที่ได้เผยแพร่ในวาร Current Gerontol Geratic Research ปี 2014 ในฐานข้อมูล NCBI ของสถานบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐ โดยทำการศึกษาเรื่อง The Benefit of Pet and Animal-Assisted Therapy to the Health of Older Individuals เพื่อวัดประสิทธิภาพการรักษาโรคซึมเศร้า และจิตเภท ด้วยการใช้สัตว์เลี้ยงบำบัด
สัตว์เลี้ยง เพื่อนสี่ขาช่วยเพื่อภาวะสุขภาพจิตดี เช่น ความเหงา ความโดดเดี่ยว แยกตัวจากสังคม ต่อผู้สูงอายุเป็นอย่างดี แต่ก็ไม่มีรายงานการศึกษาใดยืนยันทางวิทยาศาสตร์ว่าช่วยบำบัดโรคได้มากน้อยเพียงใด การศึกษานี้จึงเป็นการศึกษาผลต่อพยาธิสภาพของเหล่าสัตว์เลี้ยงที่มีต่อความเจ็บป่วยของบุคคล
ภาพ:กระทรวงยุติธรรม
นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษา pets therapy จากกลุ่มตัวอย่าง 144 คนที่มีปัญหาทางด้านอารมณ์ในผู้สูงอายุ โดยแบ่งกลุ่มตัวอย่างเพื่อควบคุม ประเมินผลโดยใช้แบบประเมินทางจิตใจ พบว่า ในกลุ่มที่ได้รับการบำบัดด้วยสัตว์เลี้ยงมีค่าคะแนนกลุ่มอาหารทางจิตใจดีกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับการบำบัดอย่างชัดเจน มีผู้มีป่วยโรคซึมเศร้ากว่า 28 คน ที่ได้รับการประเมินจากแบบประเมินภาวะซึมเศร้า มีอาการของโรคซึมเศร้าลดลงอย่างชัดเจน
ขณะที่การบำบัดในผู้ป่วยโรคจิตเภท กว่า 20 ราย ที่ได้รับการบำบัดด้วยสัตว์เลี้ยงสุนัขและแมว 3 ชั่วต่อสัปดาห์ ด้วยการอาบน้ำ ให้อาหาร ตัดขน ประเมินผลจาก social functioning ของผู้ป่วยดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ