หัวคะแนนมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่าผู้ช่วยหาเสียง หน้าที่หลัก คือ แนะนำผู้สมัครให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งรู้จัก รวมถึงชักจูงให้เลือกผู้สมัครที่ทำงานให้ ซึ่งก็มีไม่น้อยที่ใช้เงินและอิทธิพลเป็นเครื่องมือเรียกคะแนนเสียง
The EXIT พบบุคคลที่ยอมเปิดเผยว่าเคยทำงานเป็นหัวคะแนนให้กับผู้สมัครรับเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นมากว่า 20 ปี มีส่วนร่วมกับการซื้อขายเสียงให้กับผู้สมัครฯรวมกันไม่ต่ำกว่า 10 คน
งานศพ-งานแต่ง-วงเหล้า จุดเริ่มต้นการซื้อเสียง
หัวคะแนนจะถูกคัดเลือกบุคคลที่มีโอกาสพบปะผู้คนมากหน้าหลายตา เช่น ผู้ใหญ่บ้าน อสม. ครู รวมถึงผู้นำทางความคิด หรือ ผู้ที่มีหน้ามีตาในสังคม นอกจากนี้ ผลงานในอดีตก็เป็นสิ่งสำคัญที่ถูกนำมาพิจารณา หากหัวคะแนนคนไหนเคยหาเสียงได้คะแนนสูงก็มีโอกาสถูกทาบทามในครั้งต่อไป
หัวคะแนนบางคน ให้ข้อมูลว่า จะเริ่มต้นการหาเสียงตั้งแต่รู้ว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น แต่จะทำอย่างอ้อม ๆ ก่อน เช่น การช่วยงานศพหรืองานแต่งในหมู่บ้าน ไปจนถึงออกช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยหัวคะแนนต้องลงพื้นที่เคียงข้างผู้สมัครตั้งแต่วันแรก ๆ ที่ลงพื้นที่
จะเริ่มมองที่พรรคพวกเราก่อน ไปบอกว่าช่วยเลือกคนนี้หน่อย บางทีมีงานแต่งหรืองานศพก็ไปช่วยหาน้ำแข็งมาให้สัก 2 คืน หรือบางทีเขานั่งกินเหล้ากัน เราก็ไปร่วมวงด้วยแล้วก็ซื้อเหล้าให้ นี่แหละเป็นการซื้อเสียงขั้นเริ่มต้นแล้ว
เมื่อใกล้วันเลือก ตั้งหัวคะแนนจะเริ่มออกเยี่ยมตามบ้านเพื่อแนะนำผู้สมัคร และสอบถามความคิดเห็น หากใครมีแนวโน้มว่าจะเลือกผู้สมัครที่หัวคะแนนทำงานให้ ก็จะจดรายชื่อนำส่งให้ผู้สมัครเพื่อเบิกเงินมาซื้อเสียง
ขั้นตอนการซื้อเสียงของหัวคะแนนแต่ละคนจะแตกต่างกันไป หัวคะแนนบางคน บอกว่า เริ่มจ่ายเงินช่วงก่อนเลือกตั้ง 1 สัปดาห์ จากนั้นประเมินคะแนนว่าได้ตามที่คาดไว้หรือไม่ หากมีใครยังมีท่าทีลังเล ก็จะนำเงินอีกก้อนมาจ่ายในคืนก่อนเลือกตั้ง หรือที่เรียกกันว่า "คืนหมาหอน"
เราก็ต้องประเมินว่าคนไหนน่าจะเลือกเรา บางคนอาจจะยังไม่พูดว่าจะเลือกใคร ตรงนี้แหละ เขาอาจจะรอเงินเพิ่มก็ได้ เราก็ต้องประเมินแล้วก็เอาเงินไปอัดอีก ในคืนหมาหอน
เดี๋ยวนี้จะไม่ให้ตอนหัวค่ำเพราะคนเพ่งเล็งเยอะ เราจะไปให้ตอนตี 4-5 หรือก่อนออกจากบ้านไปเลือกตั้ง เหมือนไปย้ำอีกครั้งให้เขาจำเราได้
หัวคะแนนอีกคนหนึ่ง บอกว่า การจ่ายเงินซื้อเสียงจะทำในคืนหมาหอนเท่านั้น เพื่อป้องกันผู้สมัครรายอื่นจ่ายเงินเกทับ ส่วนในวันเลือกตั้ง หัวคะแนนต้องคอยตรวจสอบว่า ผู้ที่รับเงินไปแล้วมาใช้สิทธิเลือกตั้งตามที่ตกลงกันไว้หรือยัง
คนที่เลือกบางทีเขาก็มีเหลี่ยมเหมือนกัน เขาจะไม่รีบออกไปเลือกตั้ง แต่จะรอว่ามีใครมาให้เงินอีกไหม หัวคะแนนก็ต้องคอยดูว่าใครที่รับเงินไปแล้วยังไม่มาเลือกตั้ง บางทีต้องเอารถไปรับมาที่คูหาเลยก็มี
ค่าตอบแทนไม่ใช่แค่เงิน
ตามกฎหมายผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ช่วยหาเสียง หน้าที่และค่าตอบแทนให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทราบก่อนวันดำเนินการ ผู้สมัครสามารถจัดหาเสื้อผ้า สิ่งของ เลี้ยงอาหารและเครื่องดื่มสำหรับผู้ช่วยหาเสียง ส่วนค่าตอบแทนให้จ่ายตามอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ
แม้จะมีการกำหนดรายได้ของหัวคะแนนอย่างชัดเจน แต่สิ่งที่หัวคะแนนคาดหวังจะได้รับ คือ สิ่งที่พวกเขาเรียกว่า "เส้นสาย" ที่จะตามมาเมื่อผู้สมัครที่ตนเองสนับสนุนชนะการเลือกตั้ง
หัวคะแนนต้องได้เงินอยู่แล้ว เรียกว่าเงินค่าเดิน แต่สิ่งที่เราหวังจริง ๆ คือ เส้นสาย อย่างบางคนรับปากว่าจะรับลูกเข้าทำงานใน อบต. เราก็ต้องลุ้นให้คนนั้นได้เป็น นายกฯ เพื่อที่เราจะได้ฝากลูกเข้าทำงาน
การให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ถือเป็นลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง มีรางวัลนำจับสำหรับผู้ที่แจ้งเบาะแสการซื้อขายเสียงในระดับอบต.จำนวน 50,000 – 100,000 บาท