ข้อมูลจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ชี้ว่าอัตราการว่างงานของเด็กจบใหม่เพิ่มขึ้น สถานศึกษาจึงพยายามนำเทคโนโลยีมาใช้สอน และให้ผู้เรียนฝึกทำงานในสถานประกอบการจริง เพื่อสร้างประสบการณ์หลังเรียนจบ
ผศ.สมศักดิ์ คล้ายสังข์ คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา กล่าวว่า ยุคนี้อาชีพเดียวคงไม่พอต้องมีอาชีพที่สอง เพื่อรายได้เสริม ในระหว่างอาชีพหลักมีปัญหาหรือสะดุดได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการตลาดออนไลน์ เชื่อว่าหากทำได้ดีอาจจะกลายไปเป็นอาชีพหลักได้
ขณะที่ รศ.นันทิยา น้อยจันทร์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมีการทำความร่วมมือกับสถานประกอบการ ให้นักศึกษาลงปฎิบัติงาน เด็กหลายคนได้ทุนของหน่วยงาน บริษัท นอกจากนี้ยังได้พัฒนาหลักสูตรที่ทำร่วมกับสถานประกอบการ ในอนาคตจะมีห้องเรียนในสถานประกอบการ มีห้องปฎบัติการ และให้คนในหน่วยงานของสถานประกอบการเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา
สอดคล้องกับมุมมองนักวิชาการ บอกว่าอัตราการว่างงาน เกิดจากผู้ประกอบการต้องการลดต้นทุนแรงงาน ระบบการศึกษาที่ผลิตแรงงานไม่ตรงความต้องการตลาด จึงเป็นอุปสรรคต่อเด็กจบใหม่
นายเกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในยุดหลังโควิด ซึ่งต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าเศรษฐกิจจะฟื้น ระหว่างนี้การทำมาค้าขายจะยาก คนขายจะเยอะคนซื้อจะน้อย ธุรกิจจะแข่งขันกันรุนแรงมาก ธุรกิจที่จะไปได้จึงต้องคล่องตัว และปรับตัวได้ ใช้คนให้น้อยใช้เทคโนโลยีให้มาก
ขณะที่เมื่อเศรษฐกิจคลายตัวสู่ภาวะปกติ ผู้เรียนควรหาแนวทางสร้างงาน สร้างอาชีพตามความถนัด แนวทางระยะยาวภาคการศึกษาควรปรับหลักสูตรให้ทันโลกและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้เรียน